เม่น

เม่น

เม่นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

จัดอยู่ในวงศ์ Hystricidae

 

เม่นที่พบในประเทศไทยมี ๒  ชนิด  ได้แก่

๑.เม่นใหญ่แผงคอยาว
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hystrix  brachyuran  Linnaeus
ชื่อสามัญว่า  Malayan  porcupine
เม่นชนิดนี้มีขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาว ๖๓ – ๗๐  เซนติเมตร หางยาว ๖ – ๑๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัว  ๓-๗ กิโลกรัม ขนบนลำตัวเป็นขนแข็งใช้ป้องกันตัว  หัวเล็ก จมูกป้าน มีหนวดยาวสีดำ บริเวณลำตัว คอ และไหล่  มีขนแข็ง  สั้น  สีดำ  ขนใต้คอสีขาว ตาเล็ก ใบหูเล็ก ขนตั้งแต่หลังไหล่ไล่ลงไปแข็งยาว ด้านโคนและปลายสีขาว ตรงกลางสีดำ ปลายแหลม หางมีขนคล้ายหลอดสั้นๆ ขาสีดำเม่นชนิดนี้ชอบออกหากินตามลำพังในเวลากลางคืน รักสงบ เวลาเจอศัตรูจะวิ่งหนี พอจวนตัวจะหยุดกึกแล้วพองขนขึ้น ศัตรูที่ไล่ตามมาอย่างรวดเร็วหากหยุดไม่ทันก็จะโดนขนเม่นตำ และหากศัตรูใช้ตีนตะปบก็จะโดนขนเม่นตำเช่นกัน  ได้รับความปวดเจ็บมาก เมื่อศัตรูผละหนีไปแล้ว  เม่นก็จะหลบเข้าโพรงไม้หรือโพรงดิน ขนเม่นที่หลุดออกไปจะมีขนใหม่งอกขึ้นมาแทนที่ เม่นชนิดนี้กินผัก หญ้าสด หน่อไม้ เปลือกไม้ ผลไม้ เช่น กล้วย และกระดูกสัตว์  เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุราว ๒ ปี ตั้งท้องนาน  ๔  เดือน  ตกลุกครั้งละ  ๑ -๓  ตัวในโพรงที่ขุดอาศัย ลูกเม่นแรกเกิดมีขนที่อ่อน แต่เมื่อถูกอากาศภายนอกขนจะค่อยๆแข็งขึ้น อายุราว ๒๐ ปีพบทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่มาเลเชียและอินโดนีเซีย


๒. เม่นหางพวง 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Atherurus  macroura (Linnaeus)
ชื่อสามัญว่า  bush-tailed  porcupine
เม่นชนิดนี้มีความยาวลำตัววัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง  ๔๐ – ๕๐  เซนติเมตร หางยาว ๑๕ – ๒๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๒.๕ – ๕  กิโลกรัม จมูกเล็ก มีหนวดยาว ใบหูเล็ก ลำตัวยาว ขาสัน มีขนแข็งปกคลุมทั่วตัว ขนบางส่วนแข็งและปลายแหลมมาก  คล้ายหนาม  ขนส่วนที่ยาวที่สุดอยู่บริเวณกลางหลังขนแบน  มีร่องยาวอยู่ด้านบน ช่วงกลางหางไม่ค่อยมีขน แต่เป็นเกล็ด โคนหางมีขนสั้นๆ ปลายหางมีขนขึ้นดกหนาเป็นกระจุก ดูเป็นพวง ขนดังกล่าวแข็งและแหลมคม ส่วนขนที่หัวบริเวณขาทั้ง ๔ และบริเวณใต้ท้อง แหลม แต่ไม่แข็ง ขาค่อนข้างสั้น ใบหูกลมและเล็กมาก เล็บเท้าเหยียดตรง ทู่ และแข็งแรงมาก  เหมาะสำหรับขุดดิน เม่นชนิดนี้ออกหากินในเวลากลางคืน  กลางวันมักหลบซ่อนอยู่ในโพรงดิน  ตามโคนรากของต้นไม้ใหญ่ หรือตามซอกหิน มักออกหากินเป็นฝูง  ใช้ขนเป็นอาวุธป้องกันตัว กินหัวพืช หน่อไม้  เปลือกไม้  รากไม้  ผลไม้  แมลง เขาและกระดูกสัตว์  ตกลูกครั้งละ ๓- ๕  ตัวในโพรงที่ขุดอาศัย  ลูกเม่นแรกเกิดมีขนอ่อนนุ่ม แต่จะต่อยๆแข็งขึ้นอายุราว ๑๔ ปี พบในทุกภาคของประเทศไทย ในต่างประเทศพบทางภาคใต้ของจีน และที่ลาว เวียดนาม  กัมพูชา มาเลเซีย  และอินโดนีเซีย

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยใช้ขนเม่นที่สุมไฟให้ไหม้แล้วปรุงเป็นยาแก้ตานซาง  แก้พิษกาฬ  พิษไข้ เชื่อมซึม กระเพาะอาหารของเม่นใช้ปรุงเป็นยากินบำรุงน้ำดี ช่วยให้ลำไส้มีกำลังบีบย่อยอาหาร พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ให้ยาขนานหนึ่ง เข้า“ขนเม่น” เป็นยาทาตัวเด็ก ดังนี้ ภาคหนึ่งยาทาตัวกุมารกันสรรพโรคทั้งปวง และจะเป็นไข้อภิฆาฏก็ดี  โอปักกะมิกาพาธก็ดี ท่านให้เอาใบมะขวิด  คราบงูเห่า หอมแดง สาบแร้งสาบกา ขนเม่น ไพลดำ ไพลเหลือง  บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำนมโค ทาตัวกุมาร ชำระมลทินโทษทั้งปวงดีนัก

 

รูปภาพจาก:spiceee.net,vcharkarn.com