สมุนไพรมะเยา

สมุนไพรมะเยา

มะเยา Vernicia fordii (Hemsley) Airy Shaw.
บางถิ่นเรียกว่า มะเยา (เหนือ) ทังอิ๊ว (จีน)

ไม้ต้น -> ขนาดเล็ก สูง 4-10 ม. เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา.
ใบ -> เดี่ยว เรียงแบบบันไดเวียนห่าง ๆ รูปไข่ป้อม หรือ รูปหัวใจ กว้าง 3-12 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่ง. ขอบใบเรียบ โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ เส้นใบออกจากโคนใบ 5-7 เส้น และออกจากเส้นกลางใบแบบขนนกอีก 5-7 คู่ ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปราย. ก้านใบยาว 9-12.5 ซม. ตรงรอยต่อระหว่างก้านใบ และแผ่นใบด้านบนมีต่อมกลม ๆ สีแดง 2 ต่อม.
ดอก -> ออกเป็นช่อที่ยอด แยกเพศ แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ปกติกลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว แต่ดอกเพศเมียอาจมีได้ถึง 9 กลีบ ที่ฐานกลีบมีลาย และจุดประสีเหลือง แดง บางทีเหลือง หรือ ม่วงอมน้ำเงิน. ดอกเพศผู้ มีเกสรผู้ 8-12 อันอับเรณูมี 2 ช่อง. ดอกเพศเมีย มีเกสรเมียรูปไข่ ภายในมี 3-5 ช่อง
ผล -> รูปค่อนข้างกลม มีเนื้อ แก่สีเหลือง แดงคล้ำ หรือ น้ำตาลปนดำ ภายในมี 3-10 เมล็ด ส่วนใหญ่จะมี 5 เมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง.


นิเวศน์วิทยา

มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ขึ้นทางแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ปลูกในพื้นที่หลายมณฑลของประเทศจีน เพราะเป็นไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ปลูกกันบ้างทางภาคเหนือของไทย.


สรรพคุณ

ต้น -> ทั้งต้นมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลง
เมล็ด -> เมล็ดที่ยังไม่แก่จัด ผึ่งให้แห้งในร่ม ต้มกับเนื้อหมู ให้เด็กกินแก้โรคขาดอาหาร และโรคโลหิตจางสำหรับสตรี เนื้อเมล็ดแก่สกัดให้น้ำมันมะเยา (Tung oil) ถึง 33% แค่มีพิษมากกว่าน้ำมันที่ได้จากเมล็ดมะเยาชนิดอื่น เพราะมีกรด eleostearic ปริมาณสูง และเป็นน้ำมันพืชเพียงชนิดเดียวที่มีกรดชนิดนี้ จึงทำให้แห้งเร็วเป็นพิเศษ นำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมหลายประเภท ใช้เป็นยาทาแก้โรคผิวหนังบางชนิดทาแก้แผลอักเสบ ประสานกับปูนกินกับหมาก ใช้ทาแผลกันน้ำ และเมื่อทำให้บริสุทธิ์แล้ว ใช้กินเป็นยาระบายได้เช่นเดียวกับน้ำมันละหุ่ง แต่มีข้อดีกว่าตรงที่ไม่มีกลิ่นและรส ไม่ทำให้คลื่นไส้อาเจียน

 

รูปภาพจาก:dnp.go.th,thaikasetsart.com,สมุนไพร