สมุนไพรมันมือเสือ

สมุนไพรมันมือเสือ

มันมือเสือ Dioscorea esculenta (Lour.) Burk.
บางถิ่นเรียกว่า มันมือเสือ (กลาง) มันกะซาก (สระบุรี) มันจ้วก หนามจ้วก (เหนือ) มันมุ้ง (กลาง) มันอีเพิ่ม (ปราจีนบุรี) มันอีมุ้ง (กลาง ชลบุรี).

ไม้เถา -> มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ รูปร่างต่าง ๆ กัน กลม แป้น รูปทรงกระบอกสั้น ๆ หรือ เป็นพู หัวมีผิวบาง สีน้ำตาล หรือ น้ำตาลอมเทา หยาบ มักมีส่วนของรากติดอยู่ ผิวมีรสขมเล็กน้อย เนื้อสีขาว รสหวาน กินได้ ลำต้นกลม มีขน รูป T บริเวณใกล้โคนต้นมีหนามงอ ๆ ยาวประมาณ 0.6 ซม. ตอนบนสีเขียวอ่อน หรือ อมม่วง.
ใบ -> เดี่ยว เรียงสลับกัน สีเขียวอมเหลือง รูปกลม หรือ รูปไข่ป้อม ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ หรือเว้าลึก โคนใบเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ หรือ รูปติ่งหู กว้าง 6-15 ซม. ยาว 5-13 ซม. ด้านบนเกลี้ยง หรือมีขนเล็กน้อย ด้านล่างมีขนสีขาว ๆ หรือ เหลืองอ่อน เส้นใบออกจากโคนใบ 7-13 เส้น ก้านใบสีเขียว ยาว 2.5-8 ซม. ด้านบนมีร่องตามยาว ใบแก่มีหนามที่ฐาน ใบอ่อนไม่มีหนาม.
ดอก -> ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ไม่แตกแขนง ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ช่อดอกยาวได้ถึง 20 ซม. มีจำนวนดอกถึง 70 ดอก แกนช่อเป็นเหลี่ยม มีขนปกคลุม ใบประดับรูปไข่ปลายแหลม ยาว 2.5 มม. ด้านนอกมีขน. ก้านดอกยาวได้ถึง 1.25 มม. มีขน แต่ส่วนมากจะไม่มีก้านดอก. ดอกจะติดเดี่ยว ๆ ตามแกน อาจจะมีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ติด 2-4 ดอก. ฐานรองดอกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ กลีบดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกชั้นนอก รูปหอกค่อนข้างกว้าง ปลายแหลม ยาวประมาณ 1.7 มม. กลีบดอกชั้นในสั้น เกสรผู้ 6 อัน ติดกับท่อกลีบดอก ก้านเกสรยาว 1 มม. งอ. ดอกเพศเมีย ออกเป็นช่อใกล้ยอด ยาวได้ถึง 40 ซม. แกนช่อเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย. ใบประดับรูปไข่ปลายแหลม ยาวประมาณ 2 มม. ก้านดอกสั้นมาก ฐานรองดอกไม่เป็นรูปถ้วย กลีบดอกชั้นนอกรูปไข่แกมรูปหอก ปลายกลีบมน ยาวประมาณ 1.5 มม. กลีบดอกชั้นในปลายกลีบแหลม มีเกสรผู้ฝ่อเล็ก ๆ 6 อัน ปลายเกสรเมียเป็นของอ ๆ 3 คู่ รังไข่มีขน.
ผล -> เป็นรูปหัวใจกลับ กว้าง 12-22 มม. ยาว 15-27 มม. เมล็ด มีปีก.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามป่าดิบ และปลูกกันบ้าง.


สรรพคุณ

หัวใต้ดิน -> เมื่อทำให้สุกกินได้ มีวิตามินบีสูง น้ำต้มหัว กินแก้โรคปวดข้อ โรคไต  ขับปัสสาวะ และป้องกันการขาดวิตามินบี 1 หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ใช้ปิดบริเวณที่อาการอักเสบ บวมแดง

สมุนไพรมันมือเสือ

รูปภาพจาก:puechkaset.com,pantip.com