สรรพคุณเภสัช

สรรพคุณเภสัช

 แพทย์ผู้ปรุงยาจำเป็นต้องรู้รสยาก่อนที่จะรู้สรรพคุณยา เนื่องจากรสยาจะแสดงสรรพคุณเมื่อรู้จักรสยา ก็จะรู้จักสรรพคุณยานั้นอย่างกว้างๆได้ ในเรื่องของรสยานั้น  แพทย์โบราณได้แบ่งออกเป็น ๓ รส ตั้งขึ้นเป็นรสประทานก่อนคือ
๑. สรรพคุณยารสเย็น เช่น ยาที่ปลูกผสมด้วยเกสรดอกไม้ (ที่ไม่ร้อน) ใบไม้:รากไม้ (ที่ไม่ร้อน) เมื่อปรุงเป็นยาและเสร็จแล้ว จะได้ยารสเย็น ใช้แก้โรคเตโชธาตุ
๒. สรรพคุณยารสร้อน เช่น ยาที่ปรุงผสมด้วยเบญจกุล ตรีกฏุก หัศคุณ ขิง ข่า เมื่อปรุงเป็นยาเสร็จแล้ว จะได้ยารสร้อน ใช้แก้โรคทางวาโยธาตุ
๓. สรรพคุณยารสสุขุม เช่นยาที่ปรุงผสมด้วยโกษฐ์ เทียน กฤษณา กระลำพัก ชะลูด ขอนดอก เมื่อปรุงเป็นยาแล้ว จะได้ยารสสุขุม เช่น ยาหอม สำหรับแก้โรคทางโลหิต รสยาประทานทั้งสามรสนั้น แพทย์โบราณยังได้แบ่งย่อยออกเป็น ๙ รส คือ
๑.รสฝาด สำหรับสมาน
๒.รสหวาน สำหรับซึมซาบไปตามเนื้อ
๓.รสเบื่อเมา สำหรับแก้พิษ
๔.รสขม สำหรับแก้โรคและอาการทางโลหิต
๕.รสเผ็ดร้อน สำหรับแก้ลม
๖.รสมัน สำหรับแก้เส้น
๗.รสหอมเย็น สำหรับบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ
๘.รสเค็ม สำหรับซึมซาบไปตามผิวหนัง
๙.รสเปรี้ยว สำหรับกัดเสมหะ

อนึ่ง ตำราเวทย์ศึกษา (ตำราหลวง) ของพระยาพิศณุ ประสาตรเวช ได้เพิ่มยา “รสจืด” อีกรสหนึ่ง รวมเป็น ๑๐ รสโบราณจารย์ยังได้สรุปไว้ว่า โรคอันเกิดจากปถวีธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสฝาด รสหวาน รสมัน รสเค็ม โรคอันเกิดจากอาโปธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเปรี้ยว รสเบื่อเมา รสขม โรคอันเกิดจากวาโยธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสสุขุม รสเผ็ดร้อน และโรคอันเกิดจากเตโชธาตุพิการ ให้แก้ด้วยยารสเย็น รสจืด รวมทั้งได้กำหนดตัวยาประจำธาตุต่างๆไว้ด้วย

ตัวยาประจำธาตุ ดีปลีประจำปถวีธาตุมีพรีเป็นผลที่แก่จัด แต่ยังไม่สุกของต้นดีปลี อันมี
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Piper retrofractum Vahl
ในวงศ์ Piperaceae
โดยเก็บเมื่อผลกำลังเปลี่ยนจากเขียวเป็นสีแดง ซึ่งในระยะนี้ดีปลีมักจะมีกลิ่นฉุนที่สุด เมื่อเก็บจากต้นแล้ว ตากแดดให้แห้งสนิท ได้เครื่องยาที่เรียก ดีปลี โบราณจัดเป็นยาประจำธาตุดินเถาสะค้านประจำวาโยธาตุ เถาสะค้านเป็นเครื่องเถาของต้นสะค้าน อันมี
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Piper interruptum Opiz
ในวงศ์ Piperaceae
พืชชนิดนี้ทางพายัพเรียก จะค้านหรือ ตะค้าน เถาสะค้านที่ใช้ทางยา หากมีขนาดใหญ่จะมีรสเผ็ดร้อนกว่า โบราณจัดเป็นยาประจำธาตุลม

รากช้าพลูประจำอาโปธาตุ รากช้าพลูเป็นรากแห่งแห้งของต้นช้าพลู อันมี
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า sarmentosum Roxb .
ในวงศ์ Piperaceae
พืชชนิดนี้ทางทักษิณเรียก นมวา พายัพเรียก ผักปูลิง อีสานเรียก ผักอีเลิด รากจากต้นที่มีอายุมากกว่า จะมีสรรพคุณดีกว่า โบราณจัดไว้เป็นยาประจำธาตุน้ำ

รากเจตมูลเพลิงประจำเตโชธาตุ รากเจตมูลเพลิงอาจได้จากรากแห้งของพืช ๒ ชนิด คือ ต้นเจตมูลเพลิงแดง อันมี
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Plumbago indica L. (ชนิดนี้อีสานเรียกปิดปีแดง พายัพเรียก ปิดปิวแดง ส่วนทางทักษิณเรียก ไฟใต้ดิน) กับต้นเจตมูลเพลิงขาว อันมี
ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Plumbago zeylanica L.(ชนิดนี้อีสานเรียก ปิดปีขาว) ทั้งสองชนิดจัดอยู่
ในวงศ์ Plumbaginaceae
รากจากต้นที่มีอายุมากกว่า จะมีคุณภาพดีกว่า โบราณจัดเป็นยาประจำธาตุไฟ

 

รูปภาพจาก:สมุนไพรท่าพระจันทร์.com,aliexpress.com