ทุเรียน

ทุเรียน

ทุเรียน (Durio zibethinus Linn.)
บางถิ่นเรียก ทุเรียน (ทั่วไป) คือ แย (มาเล-ใต้) เรียน (ใต้)

ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 40 เมตร ลำต้นเปลาตรง กิ่งเกือบจะตั้งฉากกับลำต้น เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาลแดง หูใบร่วงง่าย. ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ใบที่อยู่ใกล้กับช่อดอกจะเรียงแบบตรงข้ามกัน รูปขอบขนาน กว้าง 2.5-7.5 ซม. ยาว 6-22.5 ซม. ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบกลม สีเขียวอมน้ำตาล มีตั้งแต่สีอ่อนถึงเข้ม เกลี้ยง ด้านบนเป็นมัน ด้านล่างก้านใบอวบอ้วนยาวไม่เกิน 2.5 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามกิ่ง ดอกยาวประมาณ 5-7.5 ซม. บานเวลาบ่าย วันรุ่งขึ้นกลีบดอกและเกสรผู้จะหลุดร่วงไป มีใบประดับรองรับดอก ยาวประมาณ 2.5 ซม. สีเขียวอมน้ำตาล; กลีบรองกลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3-5 กลีบ ปลายกลีบแหลม สีทองอ่อน ๆ กลีบดอก 4-5 กลีบ ไม่ติดกัน ม้วนอก สีขาว หรือ เป็นทางสีเขียว โคนกลีบสีครีม เกสรผู้จำนวนมาก ก้านเกสรเชื่อมติดกันเป็นมัดๆ 4-5 มัด มัดหนึ่ง ๆ มีเกสรประมาณ 10 อัน เกสรเมียมี 1 อัน ท่อเกสรยาวและตรง มีขนสั้น ๆ ปกคลุม ปลายเกสรประมาณ 10 อัน เกสรเมียมี 1 อัน ท่อเกสรยาวและตรง มีขนสั้น ๆ ปกคลุม ปลายเกสรสีเหลือง รังไข่มีขนาดเล็ก ปกคลุมด้วยขนมันเหมือนไหม อยู่เหนือกลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก ภายในมี 5 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนหลายใบ. ผล รูปกลม หรือ รูปไข่ ห้อยอยู่ตามกิ่ง กว้างประมาณ 17-35 ซม. ยาว 20-35 ซม. ความยาวมากกว่าความกว้างเล็กน้อย มี 4-5 พู เปลือกเต็มไปด้วยหนามแหลม หนามยาว 1-1.5 ซม. สีเขียว หรือ เขียวอมเหลืองหรืออมน้ำตาล พูหนึ่ง ๆ มี 1-7 เมล็ด เมล็ดมีขนาดใหญ่และมีเนื้อสีเหลืองหรือสีครีมหุ้ม เนื้อมีกลิ่นแรง รสหวานมัน อร่อย เมล็ดเผาให้สุกกินได้

นิเวศน์วิทยา : ปลูกกันมากทางจังหวัดระยอง จันทบุรี นนทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก และทางภาคใต้.

สรรพคุณ : ผล เป็นอาหารบำรุงร่างกาย เนื้อ มีธาตุกำมะถันมาก ใช้รักษาโรคผิวหนัง ทำให้ฝีแห้ง ราก ต้มน้ำกินแก้ไข้ ใบ และ ราก รวมกันใช้เป็นยาแก้ไข้  ใบ ต้มน้ำอาบแก้โรคดีซ่าน แก้ไข้ เปลือกผล เป็นยาฝาดสมาน ใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนัง ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย

 

รูปภาพจาก:wordpress.com,baomoi.com