ควาย

ควาย

ควายบ้าน หรือ water buffalo

ที่เรียกเช่นนี้เพราะควายไม่มีต่อมเหงือกสำหรับระบายความร้อนจากร่างกาย จึงชอบอยู่กับน้ำ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bubalus bubalis (Linnaeus)
จัดอยู่ในวงศ์ Bovidae พัฒนามาจากควายป่า

 

ชีววิทยาของควายป่า

ควายป่า หรือ wild water buffalo  มีลักษณะเด่น คือ เขายาว (มีความยาวเฉลี่ยราว ๑๕๐ เซนติเมตร) เมื่อตัดตามขวางจะเห็นเขาเป็นสามเหลี่ยม มีรูปร่างทั่วไปคล้ายควายบ้าน แต่ขนาดทุกส่วนใหญ่กว่ามาก ถ้ายืนเทียบกับควายบ้านจะดูเหมือนพ่อกับลูก ความสูงที่ไหล่ของตัวผู้ราว  ๑.๘๐  เมตร น้ำหนัก  ๘๐๐-๑๒๐๐ กิโลกรัม โคนเขาหนา วงเขากว้าง ปลายเขาแหลม ตอนล่างของเท้าทั้งสี่มีสีขาว คล้ายใส่ถุงเท้าขาว ใต้คอมีลายขาวเป็นรูปลิ่มสามเหลี่ยมสันกว้าง ควายป่าเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่เป็นฝูงใหญ่ๆ ควายในฝูงโดยมากเป็นตัวเมียและตัวผู้ที่ยังมีอายุน้อย เมื่อตัวผู้มีอายุมากขึ้น มักปลีกตัวออกจากฝูงไปอยู่และหากินโดดเดี่ยวเป็นควายโทน ในฝูงหนึ่งมีจ่าฝูงสำหรับผสมพันธ์เพียงตัวเดียว ควายป่าชอบหากินตามป่าและทุ่งหญ้าไม่ไกลจากแหล่งน้ำ เมื่อกินอิ่มแล้วก็ชอบนอนปลักโคนหรือนอนแช่น้ำในลำห้วย โคลนตมช่วยให้ป้องกันควายไม่ให้ยุ่งเหลือบกัดมากนัก ควายป่ามีถิ่นฐานตั้งแต่ภาคกลางของอินเดีย จนถึงรัฐอัสสัม พม่า และ ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด รวมทั้ง ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา และประเทศไทยเคยมีควายป่าชุกชุมตามลำน้ำที่ราบต่ำทั่วๆไป (ยกเว้นภาคใต้) ปัจจุบันมีเหลืออยู่เฉพาะที่เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง   จังหวัดอุทัยธานีเพียงแห่งเดียว มนุษย์จับควายป่ามาเลี้ยงเพื่อใช้งานแต่โบราณ ขนาดตัวของมันจึงเล็กลงเพราะไม่กินอาหารและออกกำลังกายเหมือนควายป่า ควายที่มีสีผิวอ่อนหรือสีออกชมพูๆ เรียก ควายเผือก (pink  buffalo)

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยรู้จักใช้น้ำนมควาย เขาควายเผือก และกระดูกควายเผือก เป็นเครื่องยา ดังนี้

๑.น้ำนมควาย ได้จากเต้านมของควายบ้านเพศเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ตำรายาสรรพคุณโบราณว่า น้ำนมกระบือมีรสหวาน ร้อน มีสรรพคุณแก้พรรณดึก ทำให้เจริญอาหาร โบราณใช้น้ำนมกระบือ เป็นทั้งยากระสายยาและเครื่องยา ยาขนานที่  ๖๖ ใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์ เข้า “น้ำนมกระบือ” (น้ำนมควาย) เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง ร่วมกับ  “น้ำนมแกะ” และเครื่องยาอย่างอื่นอีกหลายอย่าง
๒.เขาควาย ตำรายาสรรพคุณโบราณว่า เขาควายมีรสเย็น ควาย แก้สรรพพิษ แก้ร้อนใน ถอนพิษ แก้พิษไข้ เป็นต้น พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ให้ยาขนานหนึ่ง เข้า “เขากระบือเผือก” (เขาควายเผือก) เป็นเครื่องยาด้วย ดังนี้ อันว่าลักษณะกุมารกุมารีผู้ใด เกิดมาในวันจันทร์ วันพุธ คลอดเวลาเช้าเวลาเที่ยงก็ดี   ครั้นมารดาออกจากเรือนไฟแล้วประมาณ ๓ เดือน จึงตั้งกำเนิดทรางน้ำทรางสะกอเจ้าเรือน เมื่อจะบังเกิดนั้น คือตั้งแต่ลำคอถึงเพดานลุปากจำพวกหนึ่ง จำพวกหนึ่งกินนอกไส้ขึ้นมาจนถึงลิ้น จึงกระทำให้ลงแดง ให้กระหายน้ำ ให้เชื่อม ถ้าแพทย์วางยาชอบกุมารผู้นั้น จึงจะได้ชีวิตคืน ถ้าจะแก้ท่านให้เอา เขากระบือเขาเบ็ญกานี ๑  สีเสียดทั้ง ๒  ดอกบุนนาค ๑ เกสรบัวหลวง น้ำประสานทอง ๑  กระเทียม ๑  รวมยา  ๘  สิ่งนี้เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณบดทำแท่ง ละลายน้ำจันทร์กิน แก้ลงท้องเพื่อทรางน้ำ พระคัมภีร์ไกษยให้  “ยาประจำธาตุไกษยปลวก” ขนานหนึ่ง เข้า  “เขาควาย” เป็นเครื่องยาด้วย  ดังนี้ ยาประจำธาตุไกษยปลวก เอาเขาควายเผา ผลสบ้าเผา ๑ ปูนแห้งข้างเตาเผา ๑  สิ่งละ  ๑ ส่วน  พริกไทย  ๓  ส่วน ตำเป็นผงบดทำแท่งไว้ละลายน้ำปูนใสกิน แก้ไกษยปลวก และเจริญธาตุให้เป็นปรกติวิเศษนัก ยาจีนใช้เขาควายแก้อาการหมดสติ   และในโรคติดเชื้อแบบฉับพลันที่ทำให้มีไข้สูง และอาการเลือดออกเนื่องจากความร้อนภายใน
๓.กระดูกควาย ยาไทยนิยมใช้  “กระดูกควายเผือก”  เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่ง เช่น ยาแก้โรคเรื้อนกินกระดูก ใน พระคัมภีร์ร์ชวดาร ดังนี้ ยาต้มแก้โรคเรื้อนกินกระดูกให้ขัดในข้อ   เอากระดูกช้าง  ๑   กระดูกแพะ  ๑   กระดูกกระบือเผือก  ๑   กระดูกสุนักข์ดำ  ๑  เถาโคคลาน  ๑  ป่าช้าหมอง  ๑  หญ้าหนวดแมว  ๑  ข้าวเย็นเหนือ  ๑  ข้าวเย็นใต้  ๑  ยาทั้งนี้เอาเสมอภาค   ดองสุราก็ได้   ต้มก็ได้รับประทานแก้พยาธิแลโรคเรื้อน 

 

รูปภาพจาก:raiporjai.com,cityubon.blogspot.com