น้ำใบกล้วยตีบ

น้ำใบกล้วยตีบ

น้ำใบกล้วยตีบ เป็นน้ำคั้นใบกล้วยตีบหรือน้ำต้มใบกล้วยตีบในความเข้มข้นตามต้องการ กล้วยตีบเป็นกล้วยปลูกหรือกล้วยกินได้สายพันธุ์หนึ่ง เป็นลูกผสม ระหว่างกล้วยพันธุ์พื้นเมือง ๒ ชนิด คือ กล้วยป่า ( Musa acuminata Colla ) กับกล้วยตานี ( Musa balbisiana Colla ) เนื่องจากกล้วยตีบเป็นพันธุ์พืชปลูก จึงให้ชื่อวิทยาศาสตร์ไว้ตาม “ข้อกำหนดสากลว่าด้วยการเรียกชื่อพืชสวน” (International Code Nomenclature for Cultivated Plant ,1980 ) เป็น Musa (ABB group) “kluai Teeb”

ตำราสรรพคุณยาโบราณ ว่าราก ใบ และผลกล้วยตีบ มีรสฝาดเย็น รากมีสรรพคุณ แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน แก้พิษภายนอก ใบใช้มวนยาสูบแก้ริดสีดวงจมูกได้ ใช้ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคันได้ พิกัด เครื่องยาไทยที่เรียก ตรีอมฤต (ของไม่ตาย ๓ อย่าง) ประกอบด้วยรากกล้วยตีบ รากกระดอม และมะกอก

ยาขนานที่ ๑๗ ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ อันเป็นยาแก้อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ)อันพิการนั้น ให้ใช้น้ำใบผักไห่ หรือน้ำใบกล้วยตีบ เป็นน้ำกระสายยา สำหรับน้ำใบกล้วยตีบนั้น นอกจากจะช่วยละลายอย่าให้กินง่ายแล้ว ยังช่วยเสริมฤทธิ์ฝาดสมานของตัวยาอื่นได้ ดังนี้

  • ถ้าไม่ถอย ให้เอาผลมะขามป้อม ตรีผลา สค้าน รากชะพลู ตรีกะฏุก ข่าแห้ง ลูกจันทน์ เสมอภาค ทำเป็นจุณ ละลายน้ำใบผักไห่ น้ำใบกล้วยตีบก็ได้ แก้ อาโปธาตุวิการ หายแลฯ

กล้วยตีบมีลักษณะ คล้ายต้นกล้วยตานีมาก สูง ๑-๓ เมตร ใบรูปขอบขนาน กว้าง ๒๕-๕๐ เซนติเมตรยาว ๑ ถึง ๑.๕๐ เมตร พร้อมใบมีนวลสีขาวเครือมีผลเพียง๑-๓ หวี หวีหนึ่งมีผลเพียง ๗-๑๐ลูก ลูกเล็กกว่ากล้วยตานี มีรสฝาดเย็น ไม่ปลุกไว้ขาย แต่มีปลูกบ้างเพื่อใช้กิน หรือใช้ทำยา

กล้วยพันธุ์ลูกผสม ที่อยู่ในชุดกล้วยกินได้ (Eumusa series) นั้น แบ่งออกเป็น ๖กลุ่ม ผโดยใช้อักษร A และ B แสดงชุดโครโมโซมและจีโนม ซึ่งได้จากบรรพบุรุษ ๒ ชนิด คือ อักษร A มาจากจีโนมของกล้วยป่า และอักษร B มาจากจีโนมของกล้วยตานี

กล้วยตีบจัดอยู่ในกลุ่ม ABB (ABB group) เป็นกล้วยกินได้ ลูกผสม มีโครโมโซม ๓ชุด พ่อแม่มาจากกล้วยป่าและกล้วยตานี โดยมีจีโนมของกล้วยป่า (A) อยู่ร้อยละ๓๓ กล้วยกืยนได้อื่นๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม ABB เดียวกันนี้ มีกล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก กล้วยนางพญา เป็นต้น

รุปภาพจาก:luktungmohlum.com,sites.google.com