สมุนไพรหางปลาช่อน

สมุนไพรหางปลาช่อน

หางปลาช่อน Emilia sonchifolia (Linn.) DC.
บางถิ่นเรียก หางปลาช่อน (ภาคกลาง) ผักแดง (เลย) ผักบั้ง (ลำปาง) เฮียะเออัง (จีน).

ไม้ล้มลุก  อายุหนึ่งปี ลำต้นสูง 25-45 ซม. ขนค่อนข้างเกลี้ยง. ใบ ไมมีก้านใบ กว้าง 1-8 ซม. ยาว 4-16 ซม. ใบล่าง ๆ บางทีจะออกโดยรอบใกล้ผิวดิน ขอบใบที่ส่วนล่างจักเว้าลึกเข้าหาเส้นกลางใบ แบ่งใบส่วนบนออกเป็นรูปค่อนข้างกลม รูปไต รูปไข่ รูปไข่แกมสามเหลี่ยม หรือ รูปไข่กลับ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันเล็กน้อยและไม่สม่ำเสมอ บางทีที่โคนใบจะสอบเข้าสู่เส้นกลางใบคล้ายเป็นก้านใบ ใบกลาง ๆ จะเล็กกว่า รูปหอกแกมรูปไข่ ขอบเรียบ หรือ จักเป็นซี่ฟันไม่เท่ากัน; ส่วนใบบน ๆ จะเล็กแคบ โคนเป็นรูปหัวลูกศร ใบกลาง ๆ และใบบน ๆ จะเรียงตัวอยู่ห่าง ๆ กัน ใบทั้งหมดปลายใบจะแหลม เนื้อใบเกลี้ยง หรือ ค่อนข้างเกลี้ยง. ดอก เป็นกระจุก กว้าง 4-5 มม. ยาว 8-10 มม. ออกเป็นช่อบาง ๆ ที่ปลายยอด หายากที่ออกเดี่ยว ๆ ริ้วประดับมี 1 วง รูปขอบขนานแคบ ปลายแหลม ยาว 9-12 มม. กลีบดอก ชมพู ยาว 9 มม. ผล แห้ง ยาวประมาณ 3 มม. มี 5 สัน มีระยางค์สีขาว ยาว 8 มม.

นิเวศน์วิทยา : พบทั่วไปตามทุ่งหญ้าโล่ง หรือ ขึ้นปะปนกับวัชพืชทั่วไป ระดับความสูง 0-500 ม.

สรรพคุณ : ทั้งต้น ต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้ ขับเสมหะ ห้ามเลือด ฝากสมาน หืด ไอ ทั้งกินทั้งอาบ แก้เด็กเป็นฝีตานซาง เม็ดผื่นคันตามตัว แก้ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ตาแดง บิด อุจจาระเป็นเลือด ลดอาการบวมน้ำ ใช้พอกแผลไหม้ แผลน้ำร้อนลวก บาดแผลต่าง ๆ บาดแผลเรื้อรัง ใบ คั้นใช้หยอดตา หยอดหู แก้ตาเจ็บ หูเจ็บ ราก ผสมกับน้ำตาลเมาดื่มบรรเทาอาการปวดหลัง ปวดสะเอว แก้ท้องเสีย ใบและดอก ใช้ห้ามเลือด

 

รูปภาพจาก;flickr.com,topicstock.pantip.com,สมุนไพร