หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมว

ชื่อพื้นเมืองอื่น พยับเมฆ (กรุงเทพฯ) หญ้าหนวดแมว (ทั่วไป) อีตู่ดง (เพชรบูรณ์) บางรักป่า (ประจวบคีรีขันธ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Orthosiphon aristatus (Blume) Miq. Orthosiphon grandiflorus Bold.

ชื่อวงศ์  LABIATAE
ชื่อสามัญ  Ya nuat maeo.

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก (H) ขนาดเล็ก ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 30-80 ซม. กิ่งอ่อนและลำต้นจะเป็นสี่เหลี่ยม โคนต้นอ่อนโค้ง ปลายตั้งตรงตามยอดอ่อนมีขนกระจาย
ใบ
 เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ยกเว้นขอบที่โคนใบจะเรียบ ตรงกลางใบจะกว้างกว่าตรงปลายและโคนใบ มีขนตามเส้นใบทั้งด้านบนและด้านล่าง เนื้อใบบาง ก้านใบยาว มีขน                                                                                           
ดอก
 ออกดอกตรงปลายยอด สีขาวหรือขาวอมม่วงอ่อน ออกเป็นช่อกระจะ ลักษณะรูปฉัตร ริ้วประดับรูปไข่ ไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง งอเล็กน้อย ด้านนอกมีต่อมน้ำมันหรือเป็นปุ่มๆ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดตรงเล็ก ปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีหยักตื้นๆ 4 หยัก โค้งไปทางด้านหลัง ปากล่างตรง โค้งเป็นรูปช้อน       
ผล
 รูปขอบใบขนานกว้าง แบน ยาวประมาณ 1.5 มม. ตามผิวมีรอยย่น
นิเวศวิทยา  
มีถิ่นกำเนินในประเทศอินเดีย พม่า แหลมอินโดจีน หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ชะวา ฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยพบตามพื้นที่ราบทั่วๆไป นิยมปลูกตามบ้านเรือนหรือตามวัดเพื่อเป็นไม้ประดับและเป็นยา

การปลูกและขยายพันธุ์  
เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบขึ้นในที่ชื้น มีแสงแดดรำไร ขยายพันธ์ุด้วยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นแปลงแบบยกร่อง

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคคุณ     
ทั้งต้น  รสจืด แก้กระษัย ไตพิการ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้หนองใน ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด ขับล้างพิษในระบบทางเดินปัสสาวะ                                                   
ใบ รสจืด ใช้รักษาโรคไต ขับปัสสาวะ รักษาโรคคุดทะราด ขับนิ่ว แก้โรคหนองใน กระเพราะปัสสาวะอักเสบ แก้ปวดเมื่อยและไขข้ออักเสบ                                                                                                                 

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้  
1. แก้อาการขัดเบา ขับปัสสาวะ โดยนำใบสดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ล้างน้ำให้สะอาดและนำมาตากในที่ร่มให้แห้ง ประมาณ 4 กรัม หรือ 4 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 750 มิลลิลิตร เหมือนกับชงชาดื่มวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
2. ลดความดันเลือด แก้โรคหนองใน โดยใช้ทั้งต้น (กิ่งและใบ) ประมาณ 90-120 กรัม ถ้าแห้งใช้ 40-50 กรัม ต้มในน้ำเดือด 500 ซีซี ประมาณ 5-10 นาที กรองเอาน้ำดื่มครั้งละ 75 ซีซี วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร

ข้อควรทราบ

  • คนที่เป็นโรคไต โรคหัวใจห้ามรับประทาน เพราะใบพยับเมฆจะประกอบด้วยเกลือของสารโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงมากซึ่งถ้าไตไม่ปกติจะไม่สามารถขับถ่ายโพแทสเซียมออกจากร่างกาย ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้

 

รูปภาพจาก:puechkaset.com,sukkaphap-d.com,สมุนไพร