สมุนไพรเหมือนโลด

สมุนไพรเหมือนโลด

เหมือนโลด Aporusa villosa (Lindl.) Baill.
บางถิ่นเรียกว่า เหมือนโลด (ขอนแก่น) กรม (ใต้) ด่าง แด่งพง (สุโขทัย) ตีนครึน พลึง โลด (กลาง) ประดงข้อ (พิจิตร) เหมือดควาย เหมือดตบ (เหนือ) เหมือดหลวง (เชียงใหม่.

ไม้ต้น -> สูง 8-10 ม. ตามยอดอ่อน และกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเหลือง เปลือกหนา แตกเป็นร่องลึกตามยาว.
ใบ -> รูปขอบขนาน ขอบขนานป้อม ๆ จนถึงรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 6-10 ซม. ยาว 10-16 ซม. ปลายใบทู่ หรือ เป็นติ่งทู่ ๆ ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย โคนใบมน หรือ แหลม เนื้อใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง หรือ มีขนประปราย ตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมีขน ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลแกมเหลือง ก้านใบยาว 1.2-2.2 ซม. มีขนสีน้ำตาลแกมเหลือง.
ดอก -> ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้เล็ก ออกชิดกันเป็นแท่งยาว ยาว 2-4 ซม. จำนวนหลายช่ออยู่ด้วยกัน มีใบประดับรูปไข่ป้อม ปลายแหลม ด้านนอก และขอบมีขน. กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3-6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก เกสรผู้มี 2 อัน อับเรณูแตกตามยาว. ดอกเพศเมีย ออกเป็นช่อเช่นเดียวกับดอกเพศผู้ แต่สั้นกว่ามาก ส่วนมากจะออกเป็นแท่งเดี่ยว ๆ รังไข่มีขนสีน้ำตาลแกมเหลือง ภายในมี 1 ช่อง มีไขอ่อน 2 หน่วย ท่อรังไข่แยกเป็น 2 แฉก.
ผล -> รูปไข่ ปลายมีติ่งแหลม มีขนสีน้ำตาลแกมเหลืองหนาแน่น สีส้ม กว้างประมาณ 7 มม. ยาว 10 มม. มี 1 เมล็ด อีก 1 เมล็ดฝ่อ.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามที่โล่งแจ้งในป่าดิบเขาทางภาคเหนือ ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณทั่วไป เหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,400 ม.


สรรพคุณ

ต้น -> เปลือกมียางสีแดงใช้เป็นสีย้อม ปรุงเป็นยาขับลมในลำไส้ และขับระดู

สมุนไพรเหมือนโลด

รูปภาพจาก:botany.org,biotik.org,สมุนไพร