อีแร้ง

อีแร้ง

อีแร้งเป็นนกที่จัดอยู่ในสกุล Gyps

มีชื่อสามัญว่า vulture ที่พบได้ในประเทศไทยมี ๓ ชนิด ทุกชนิดจัดอยู่ในวงศ์ Accipitridae  อีแร้งไทยอีก ๓ ชนิดนั้น ปัจจุบันหายากและมีปริมาณน้อย ลางชนิดอาจสูญพันธ์ไปแล้ว
๑. อีแร้งเทาหลังขาว

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gyps  bengalensis (Gmelin)

มีชื่อสามัญว่า white – rumped  vulture

เป็นนกนาดใหญ่ ความยาวของสัตว์วัดจากปลายปากถึงปลายหางราว ๙๐ เซนติเมตร ลำตัวสีดำแกมน้ำตาล หัวและลำคอไม่มีขนปกคลุม เป็นเพียงแผ่นหนังสีคล้ำ ตอนล่างของคอมีขนเป็นวงรอบหลัง สีขาว ตอนล่างและโคนหางสีขาวเด่นชัด ด้านในต้นขามีแต้มสีขาว เห็นได้ชัดขณะเกาะยืน   เมื่ออายุน้อยลำตัวมีสีน้ำตาลออกแดงหรือน้ำตาลเข้ม ไม่มีแถบขาวเลย กินซากสัตว์เป็นอาหาร   ทำรังบนยอดไม้สูง ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ วางไข่ครั้งละ ๑ ฟอง ทั้ง ๒ เพศช่วยกันทำรังและกกไข่ ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ในประเทศไทยเคยพบชุกชุมบริเวณที่ราบ แต่ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก   เข้าใจว่าเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

 

๒.อีแร้งปากเรียว 

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Gyps  indicus  (Scopoli)   

มีชื่อสามัญว่า   long – billed  vulture

อีแร้งสีน้ำตาลอินเดีย ก็เรียก  เป็นอีแร้งขนาดใหญ่  ขนาดวัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวราว  ๙๐  เซนติเมตร ตัวสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแก่ขนทุกเส้นมีขอบสีจางกว่าสีพื้น หัวและลำคอมีขนอุยสีน้ำตาลออกขาวปกคลุม  ท้องสีน้ำตาลอ่อน มีจะงอยปากที่เรียวกว่าแร้งชนิดอื่นๆ ตัวที่อายังน้อยมีสีเข้มกว่าตัวโตเต็มวัย และมักพบที่ขนอุยหลงเหลืออยู่บนขนหัว ตามปรกติอยู่เป็นฝูงเล็กๆ  ร่วมกับอีแร้งชนิดอื่นๆ และร่วมลงกินซากสัตว์ด้วยกัน มักพบจิกและแย่งซากสัตว์กันตลอดเวลา  การทำรังและวางไข่คล้ายกับแร้งชนิดอื่นๆ ทำรังช่วงเดือนพฤศจิกาถึงเดือนกุมภาพันธ์   ชอบอยู่ตามที่โล่ง ชานเมือง หากินตามลำห้วยใหญ่ๆ  ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ มีเขตการกระจายพันธุ์จากประเทศอินเดียถึงภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยเคยพบได้ทั่วไป แต่ปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากบ้านเราแล้ว


๓.อีแร้งเทาหิมาลัย

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Gyps   himalaiensis  Hume

มีชื่อสามัญว่า Himalayan  griffon  vulture

อีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย  ก็เรียก เป็นอีแร้งขนาดใหญ่มาก ขนาดวัดจากปลายปากถึงปลายหางราว ๑๒๒ เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายอีแร้งปากเรียว แต่ตัวใหญ่กว่ามาก ตัวผู้และตัวเมียมีสีเหมือนกัน ลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแกมขาว ด้านล่างสีเนื้อแกมสีน้ำตาลอ่อน มีลายขีดขนาดใหญ่สีขาว ขนรอบคอยาว สีน้ำตาล มีลายขีดสีขาว มักพบอยู่โดดๆหรืออยู่เป็นคู่ หรือ ๒-๓ ตัว ตามทุ่งโล่งหรือป่าบนภูเขา มักร่อนเป็นวงกลมตามหุบเขาหรอภูเขาเพื่อหาอาหาร  เป็นนกที่หลงเข้ามา หรืออพยพมาในประเทศไทยช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์  หายากและปริมาณน้อย เคยมีรายงานว่าพบในกรุงเทพฯ และที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคิรีขันธ์

 

รูปภาพจาก:manager.co.th,pixabay.com