นกกระจอก

นกกระจอก

นกกระจอก หรือนกกระจอกบ้าน ภาคใต้เรียก นกจอก

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Passer montanas (Linnaeus)
มีชื่อสามัญว่า tree sparrow หรือ European sparrow ที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดย่อย Passer montanus malaccensis A. Dubois

 

ชีววิทยาของนกกระจอก

นกชนิดนี้เป็นนกขนาดเล็ก ความยาวของตัววัดจากปลายปากถึงปลายหางราว ๑๓ เซนติเมตร ปากอ้วนสั้นเป็นปากกรวย หัวค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ปีกสั้น ปลายปีกมน หางค่อนข้างสั้น ปลายหางหยักเว้าไปทางโคนหางเล็กน้อย ขาค่อนข้างสั้น กระหม่อมสีน้ำตาลเข้ม หัวด้านข้างและคอสีขาว ขนบริเวณหูมีแถบสีดำ คอหอยสีดำ ลำตัวด้านบนและปีกสีน้ำตาลเข้ม ขนปลายปีกและขนโคนปีกมีแถบสีขาว ๒ แถบ ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ตัวผู้มีสีสดใสกว่าเล็กน้อย มักอยู่รวมกันเป็นฝูงใกล้ถิ่นอาศัยของมนุษย์ อาจพบได้ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑,๘๐๐เมตร
นกกระจอกกินเมล็ดพืชและแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร ทำรังตามใต้หลังคาบ้านหรือตามหลืบตามซอก วัสดุที่ใช้ทำรังประกอบด้วยหญ้าแห้งเป็นส่วนใหญ่ ขยายพันธุ์ได้ตลอดปี  วางไข่คราวละ ๓ – ๕ ฟอง ใช้เวลาฟักราว ๑๓ วัน หลังออกจากไข่ราว ๑๔ วัน ก็บินได้

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์ตามชนบทใช้นกกระจอกทั้งตัว ถอนขน ผ่าเอาเครื่องในออก ทำความสะอาด เอาพริกไทยและกระชายยัดในตัว จากนั้นจึงย่างไฟ แล้วเอาออกมาตำเป็นผง อาจผสมกับยาอื่นอีกหรือผสมน้ำผึ้ง กินเป็นยาบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ชาวบ้านตามชนบทลางถิ่นใช้เลือดนกกระจอกทาปานแดงเด็กแรกเกิด

 

รูปภาพจาก:pestawaythailand.com,namq.blox.pl