จระเข้

จระเข้

จระเข้เป็นสัตว์คลานขนาดใหญ่

มีผัวหนังแข็งเป็นเกล็ด ปากยาว ปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูก หางเป็นเหลี่ยม แบน ยาว ใช้โบกว่ายน้ำและใช้ฟาดต่างอาวุธ ตามปรกติหากินในน้ำ ตะเข้หรืออ้ายเข้ก็เรียก อีสานเรียกแข้ ปักษ์ใต้เรียกเข้ ในตำรายาโบราณมักเขียนเป็นจรเข้ เรียกในภาษาอังกฤษว่า crocodile
ในทางสัตวานุกรมวิธานนั้น  จระเข้ที่จัดอยู่ในวงศ์จระเข้ (Crocodylidae) มีทั้งหมด ๒๒ ชนิด  แบ่งออกได้เป็น ๓ วงศ์ย่อย คือ
๑. วงศ์ย่อยจระเข้ (Crocodylinae) มีทั้งหมด ๑๔ ชนิด จัดแบ่งเป็น ๓ สกุล จระเข้ที่พบในประเทศไทยมี ๒ สกุล คือสกุลจระเข้ (Crocodylus) มีทั้งหมด ๑๒ ชนิด พบในประเทศไทยเพียง ๒ ชนิด และสกุลตะโขง (Tomistoma) มีเพียง ๑ ชนิด
๒.วงศ์ย่อยจระเข้จีน (Alligatoriane)  มัทั้งหมด ๗ ชนิด  จัดแบ่งเป็น ๔ สกุล  ไม่พบในธรรมชาติในประเทศไทย Crocodile กับ  Alligator
จระเข้ที่จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Crocodylinae มีชื่อสามัญว่า crocodile ส่วนที่อยู่ในวงศ์ย่อย  Alligatoriane มีชื่อสามัญว่า  alligator ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกันแต่แตกต่างกันที่ alligator  มีส่วนหัวกว้างกว่า  ปลายปากกลมมนกว่า  ฟันบนครอบฟันล่าง  ฟันล่างซี่ที่ ๔ ทั้งสองข้างขยายโตกว่าฟันซี่อื่นๆ  จะไม่เห็นฟันซี่นี้เมื่อปากปิด  เพราะฟัน ๒ ซี่นี้สอดลงในรูที่ฟันด้านบน  ส่วน crocodile  มีส่วนหัวที่แหลมเรียวยาวกว่า  ฟันบนและฟันล่างเรียงตรงกัน  ฟันซี่ที่ขยายใหญ่ขึ้นจะเฉียงออกมาด้านนอก  มองเห็นได้แม้เวลาปิดปาก
๓.วงศ์ย่อยตะโขงอินเดีย (Gavialinaae) ซึ่งมีเพียง ๑ สกุล และมีเพียง ๑ ชนิดเท่านั้น คือตะโขงอินเดีย[Gavialis gangeticus (Gmelin)]  พบตามแหล่งน้ำจืดและแม่น้ำต่างๆทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย  ปากีสถาน  บังกลาเทศ  เนปาล  ภูฏาน และพม่า  แต่ไม่พบในไทย
สมัยก่อนพบจระเข้อยู่ตามป่าริมแม่น้ำ  ลำห้วย  คลอง  หนอง  บึง  เคยมีจำนวนมาก  จึงมีการจับจระเข้มากินเป็นอาหารและใช้ส่วนต่างๆของจระเข้มาเป็นเครื่องยาสมุนไพร  ปัจจุบันเมื่อมีคนมากขึ้น  ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป  ทั้งที่จำเป็นจริงคือการใช้พื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย  และที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  ทำให้จำนวนจระเข้ในธรรมชาติลดลงมากจนเกือบสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ  คงพบบ้างตามแหล่งน้ำในเขตอนุรักษ์บางแห่ง อย่างไรก็ตาม  เป็นโชคดีที่แม้ว่าจระเข้จวนสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในประเทศไทยแล้ว  แต่นักธุรกิจของเราก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์จระเข้  ทำให้มีจำนวนจระเข้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  กลายเป็นสัตว์อาสินที่สำคัญของประเทศ   เป็นสัตว์ที่ให้หนังสำหรับทำเครื่องหนังที่ตลาดต้องการ  และให้เครื่องยาสมุนไพรโดยที่ไม่เป็นการทำลายสัตว์ชนิดนี้ในธรรมชาติ  ผลิตจากจระเข้ที่เพราะพันธุ์ขึ้นมา  ไม่ว่าจะเป็นเนื้อจระเข้  ดีจระเข้  หรือหนังจระเข้  กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ  ที่ดึงดูดนักท่องเทียวทั้งที่เป็นคนไทยและเป็นคนต่างชาติให้มาเยี่ยมชมปีละจำนวนมากๆ

 

จระเข้ในประเทศไทย

จระเข้ที่พบในธรรมชาติในประเทศไทยจัดอยู่ในวงศ์ Crocodylidae  มี ๒ สกุล รวม ๓ ชนิด คือ สกุลจระเข้ (Crocodylus) มี ๒ ชนิด ได้แก่ จระเข้น้ำจืดหรือจระเข้บึง (Crocodylus siamensis Schneider)  กับจระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้อ้ายเคี่ยม (Crocodylus porosus Schneider)  และสกุลตะโขง  (Tomistoma )  มี ๑ ชนิด คือ ตะโขงหรือจระเข้ปากกระทุงเหว [Tomistoma  schleielii (S.  Muller)]  สัตว์พวกนี้มีผัวหนังแข็งเป็นเกร็ด ปากยาว ปลายปากนูนสูงขึ้นเป็นช่องเปิดของรูจมูก เรียกก้อนขี้หมา  หางเป็นเหลี่ยม แบน ยาว ใช้โบกว่ายน้ำและใช้ฟาดต่างอาวุธ (เมื่ออยู่ในน้ำจระเข้จะฟาหางได้เมื่อขาหลังจรดพื้นเท่านั้น)
๑.จระเข้น้ำจืด 
มีชื่อวิทยาศาสตร์ Crocodylus  siamensis Schneider
เป็นจระเข้ขนาดปานกลาง  ลำตัวอาจยาวได้ถึง ๓ เมตร มีลักษณะเด่นคือมีแถวเกร็ดนูนบนท้ายหอย  และมีสันเตี้ยอยู่ระหว่างตาทั้ง ๒ ข้าง จระเข้ชนิดนี้พบอาศัยอยู่ตามทะเลสาบน้ำจืด  ตลอดจนในที่ราบ  หนอง บึง และแม่น้ำ  โดยเฉพาะบึงที่แยกออกจากแม่น้ำ  และลำธารที่ไหลเอื่อยๆ ที่มีฝั่งเป็นโคลน  เคยพบมากที่บึงบอระเพ็ด  แต่ปัจจุบันแทบไม่พบในแหล่งธรรมชาติเลย  จระเข้ชนิดนี้กินปลาเป็นอาหารหลัก  โตเต็มที่เมื่ออายุ ๑๐-๑๒ ปี  ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ตัวเมียวางไข่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม  วางไข่ครั้งละ ๒๐-๔๐ ฟอง  ไข่ฟักออกเป็นตัวในราว ๖๗-๖๘ วัน
๒.จระเข้น้ำเค็ม
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylus  porosus Schneider
เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาจระเข้ที่ยังมีเผ่าพันธุ์อยู่ในปัจจุบัน ลำตัวอาจยาวได้ถึง ๘ เมตร  บริเวณท้ายทอยไม่พบแถวเกร็ดนูนเช่นที่พบในทะเลน้ำจืด  และบริเวณหน้าผากมีสันจางๆคู่หนึ่งซึ่งสอบเข้าหากัน  เริ่มตั้งแต่ตาไปสินสุดที่ปุ่มจมูก  (ก้อนขี้มา)   ตัวผู้โตเต็มที่เมื่ออารุราว ๑๖ ปี   ส่วนตัวเมียโตเต็มที่เมื่ออายุราว  ๑๐  ปี  ตัวเมียวางไข่ครั้งละประมาณ  ๕๐  ฟอง  ไข่ฟักออกเป็นตัวในราว  ๘๐-๙๐  วัน

 

ลักษณะที่แตกต่าง จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม

๑.ลำตัว ป้อมสั้น ไม่สมส่วนนัก เรียวยาว สมส่วนกว่า
๒.ส่วนหัว รูปสามเหลี่ยมมุมป้าน โหนกที่หลังตาสูง และเป็นสันมากกว่า รูปสามเหลี่ยมมุมแหลม  ปากยาวกว่า
๓.ลายบนตัว สีออกเทาดำ มีลายสีดำเป็นแถบ สีออกเหลืองอ่อน มีลายเป็นจุดสีดำตลอดลำตัว
๔.บริเวณท้ายทอย มีเกล็ด ๔-๕ เกล็ด มีมีเกล็ด
๕.ขาหลัง พังผืดเห็นไม่ชัด  มีพังผืดเห็นได้ชัดเหมือนขาเป็ด
.ตะโขง หรือ จระเข้ปากกระทุงเหว เป็นจระเข้พันธุ์ที่หายากที่สุดในประเทศไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tomistoma  schlegeill (S. Muller) เป็นจระเข้ขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งของไทย ลำตัวอาจยาวถึง ๕ เมตร ตัวสีน้ำตาลแดง มีลายสีน้ำตาลเข้ม ปากยาวเรียวคล้ายปากปลาเข็ม หางแบนใหญ่ ใช้ว่ายน้ำ จระเข้ชนิดนี้พบเฉพาะทางภาคใต้ของไทย  มักอาศัยอยู่ในแม่น้ำและหนองน้ำจืดที่มีบริเวณติดต่อกับแม่น้ำ อาจพบได้บริเวรป่าชายเลนหรือบริเวรน้ำกร่อย มีรายงานว่าพบจระเข้ปากกระทุงเหวที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพลุโต๊ะแดง จังหวักนราธิวาส แต่พบเพียงที่ละ ๑-๒ ตัว จระเข้ชนิดนี้กิน ปลา และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังหลายชนิดเป็นอาหาร โตเต็มที่เมื่ออายุราว ๔.๕-๖ ปี ตัวเมียวางไข่ครั้งละราว ๒๐-๖๐ ฟอง ไข่ฟักออกเป็นตัวในราว ๗๕-๙๐ วัน  และฟักเป็นตัวในฤดูฝน
๔.จระเข้พันธุ์ผสม  เป็นจระเข้ผสมระหว่างจระเข้น้ำจืดกับจระเข้น้ำเค็ม คนไทยเป็นผู้สำเร็จในการผสมจระเข้ ๒ ชนิดนี้  เป็นครั้งแรกในโลกเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน จระเข้พันธุ์ผสมมีรูปร่าง สีสัน เกล็ด และนิสัยที่ดุร้ายเหมือนจระเข้น้ำเค็ม แต่มีขนาดโตกว่า (เมื่อโตเต็มที่มีขนาดยาว ๕.๕ เมตร มีน้ำหนักตัวมากกว่า ๑,๒๐๐ กิโลกรัม) จัดเป็นจระเข้พันธุ์ที่มีขนาดโตที่สุดในประเทศไทย จระเข้พันธุ์ผสมเริ่มวางไข่เมื่ออายุ ๑๐-๑๒ ปี วางไข่ราวครั้งละ ๓๐-๔๐  ฟอง มากกว่าการวางไข่ของจระเข้น้ำเค็ม ไข่มีขนาดเล็ก  เปลือกไข่บาง  อัตราฟักเป็นตัวได้ต่ำมาก เมื่ออายุ ๑๓-๒๐ ปีวางไข่ราวครั้งละ ๓๐ –๕๕  ฟอง ไข่ขนาดโตปานกลาง เปลือกไข่หนากว่า อัตราฟักเป็นตัวได้สูง และเมื่ออายุ ๒๑ ปี ขึ้นไปวางไข่ครั้งละ ๓๕-๖๐ ฟอง เปลือกไข่หนามาก อัตราฟักเป็นตัวสูง

 

ชีววิทยาของจระเข้ไทย

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าจระเข้กำเนิดและมีวิวัฒนาการบนโลกมาตั้งแต่ ๒๕๐  ล้านปีก่อน  ปัจจุบันมีจระเข้ในโลกนี้ราว ๒๒ ชนิด กระจายอยู่ตามแหล่งน้ำต่างๆ ในเขตร้อนทั่วโลก  โดยเฉพาะบริเวณที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง ๒๑-๓๕ องศา จระเข้เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในฤดูร้อนหรือในเวลากลางวันนั้น อาศัยกลบดานอยู่ในน้ำ ในฤดูหนาวจึงออกมาผึ่งแดด ตามปรกติชอบนอนบนชายฝั่งน้ำที่เงียบสงบ น้ำนิ่ง ลึกไม่เกิน ๑.๕๐ เมตร เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาหรือภูมิอากาศ  เช่น  ก่อนเกิดพายุฝนฟ้าคะนองหรือแผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิด จระเข้จะส่งเสียงร้องออกจากลำคอคล้ายเสียงคำรามของสิงโต  และตัวอื่นๆก็จะร้องรับตามกันต่อๆไป จระเข้ไทยมีอายุเฉลี่ยราว ๖๐-๗๐ ปี แต่โตเต็มที่และผสมพันธุ์ละวางไข่ได้เมื่อมีอายุราว ๑๐ ปีขึ้นไป เราสามารถจำแนกจระเข้ตัวผู้และจระเข้ตัวเมียได้โดยการดูลักษณะภายนอกเมื่อจระเข้มีอายุตั้งแต่ ๓ ปี ขึ้นไป จระเข้เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุราว ๑๐ ปี โดยการผสมพันธุ์กันในน้ำเท่านั้น ฤดูผสมพันธุ์มักเป็นฤดูหนาว  คือในราวเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์  เมื่อผสมพันธุ์กัน  ตัวผู้จะเกาะหลังตัวเมียและตวัดหลังหางรัดตัวเมีย ใช้เวลาผสมพันธุ์กันราว ๑๐-๑๕ นาที จระเข้ตัวเมียตั้งท้องราว ๑ เดือน  และเริ่มวางไข่ในราวเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม  จระเข้ตัวเมียจะเลือกทำเลที่เหมาะสม ปลอดภัย  และใกล้แหล่งน้ำ  แล้วกวาดเอาใบไม้และหญ้ามาทำเป็นรังสูงราว ๔๐-๘๐ เซนติเมตร กว้างได้ตั้งแต่ ๑-๒๐ เมตร  สำหรับวางไข่  จากนั้นจึงขุดหลุมตรงกลางแล้ววางไข่ โดยใช้เวลาวางไข่ ๒๐-๓๐ นาที เมื่อวางไข่เสร็จจึงกลบให้แน่น ไข่จระเข้มีลักษณะโตกว่าไข่เป็ดเล็กน้อย  แต่เล็กกว่าไข่ห่าน จระเข้ตัวเมียวางไข่คราวละ ๓๕-๔๐ ฟอง ระยะฟักตัวของไข่จระเข้แต่ละชนิดก็ไม่เท่ากัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาฟักไข่  ลูกจระเข้จะร้องออกจากไข่  เมื่อตัวหนึ่งร้องตัวอื่นๆก็ร้องรับต่อๆกันไป  เมื่อแม่จระเข้ได้ยินเสียงลูกร้อง  ก็จะขุดคุ้ยไปในรังจนถึงไข่ ลูกจระเข้ใช้ปลายปากที่มีติ่งแหลมเจาะไข่ออกมา  ตัวที่ไม่สามารถเจาะเปลือกไข่ได้ แม่จระเข้จะคาบไข่ไว้ในปากและขบให้เปลือกแตกออก ลูกจระเข้แรกเกิดมีขนยาว ราว  ๒๕-๓๐  เซนติเมตร   มีน้ำหนักตัวราว  ๒๐๐-๓๐๐  กรัม มีฟันแหลมและใช้กัดได้แล้ว และมีไข่แดงอยู่ในท้องสำหรับเป็นอาหารได้อีกราว ๑0  วัน เมื่ออาหารหมดและจระเข้เริ่มหิว  ก็จะหาอาหารกินเอง จระเข้มีระบบย่อยอาหารที่ดีมาก สามารถย่อยกระดูกสัตว์ต่างๆได้ จระเข้เมื่อโตเต็มที่มีฟัน ๖๕  ซี่ ฟันล่าง ๓๐ ซี่  เมื่อฟันหักไปก็มีฟันใหม่งอกขึ้นมาแทนที่ในระยะเวลาไม่นาน ฟันจระเข้เป็นกรวยซ้อนกันเป็นชุดๆ อยู่ภายในเหงือก ๓ ชุด จระเข้มีลิ้นติดกับพื้นปาก เมื่อจระเข้อ้าปากจะเห็นเป็นจุดเล็กๆสีดำๆ ปรากฏอยู่ทั่วไปที่พื้นปากด้านล่าง   บริเวณนั้นเป็นจุดที่จระเข้ใช้บอกความแตกต่างของรสชาติอาหารที่กินเข้าไป ส่วนลึกในช่องปากมีลิ้นเปิดปิดเพื่อป้องกันน้ำเข้าคอเมื่อจระเข้อยู่ในน้ำ จมูกจระเข้อยู่ส่วนโค้งของปลายด้านบนของจะงอยปาก มีลักษณะเป็นปุ่มรูปวงกลม มีรูจมูก ๒ รู ปิดเปิดได้  เวลาดำน้ำจะปิดสนิทเพื่อป้องกันน้ำเข้าจมูก จระเข้หายใจและดมกลิ่นด้วยจมูก ในช่องปากมีกระเปาะเป็นโพรงอยู่ภายใน ใช้สำหรับรับกลิ่น

จระเข้มี ๔  ขา แต่ขาสั้น ดูไม่สมดุลกับลำตัว ขาหน้ามีนิ้วข้างละ ๕ นิ้ว ขาหลังมีนิ้วข้างละ  ๔  นิ้ว จระเข้ไม่สามารถคลานไปไหนได้ไกลๆ แต่ในระยะสั้นๆทำได้เร็วเท่าคนวิ่ง เมื่อจำเป็น จระเข้สามารถคลานลงน้ำและว่ายน้ำได้ อย่างเงียบกริบ  เวลาจับเหยื่อในน้ำ จระเข้จะเคลื่อนตัวเข้าหาเหยื่ออย่างช้าๆ  เหมือนขอนไม้ลอยน้ำมา ครั้นได้จังหวะและระยะทางพอควรก็จะพุ่งเข้าใส่เหยื่ออย่างรวดเร็ว พร้อมอ้าปากงับเหยื่อได้อย่างแม่นยำ เมื่องับเหยื่อไว้ได้แล้ว ก็จะบิดหมุนควงเหยื่อเหยื่อตายสนิทแล้วจึงค่อยกิน   ฟันจระเข้มีไว้สำหรับจับเหยื่อและฉีกเหยื่อเป็นชิ้นๆ แล้วกลืนลงไป ไม่ได้มีไว้สำหรับเคี้ยวอาหาร

จระเข้สามารถลอยน้ำได้โดยการสูดลมหายใจเข้าเต็มปอด แล้วพยุงตัวให้ลอยน้ำได้โดยการใช้ขาพุ้ยน้ำและหางโบก แต่ในการพุ่งตัวและว่ายน้ำด้วยความรวดเร็วนั้น   จระเข้ใช้เพียงหางอันมีพลังโบก ไปมาอย่างรวดเร็วเพื่อให้ตัวพุ่งไปข้างหน้า จระเข้มีความสามารถในการมองเห็นที่ดีและไวมาก สามารถมองภาพได้  ๑๘๐  องศา ทั้งยังสามารถมองเห็นวัตถุที่มาจากเหนือหัวได้ สายตาของจระเข้มีความไวและเร็วพอที่จะประสานกับนกที่บินผ่านไป จระเข้ยังลืมตาและมองเห็นในน้ำได้  เมื่อจระเข้ดำน้ำจะมีม่านตาบางใสมาปิดตาเพื่อป้องกันการเคืองตา จระเข้ยังมีหูที่รับเสียงได้ดี หูจระเข้เป็นร่องอยู่ข้างนัยน์ตาจระเข้ ๒ ข้าง นอกจากนั้นจระเข้ยังรับรู้อันตรายที่จะมาถึงได้ด้วยผิวหนัง ซึ่งสามารถรับความรู้สึกจากการสั่นสะเทือนของพื้นดินหรือท้องน้ำได้ในธรรมชาติ  จระเข้อยู่รวมกันเป็นฝูงหรืออยู่ใกล้เคียงกันบริเวณกว้างตามลำแม่น้ำ ในฝูงหนึ่งๆมีจระเข้ใหญ่เป็นจ่าฝูงอยู่ ๑ ตัว  และมีรองจ่าฝูงอีก ๑ – ๓ ตัว  ตัวที่เป็นจ่าฝูงต้องต่อสู้เอาชนะตัวอื่นๆมาอย่างโชกโชน  จ่าฝูงบางตัวยังเห็นรอยแผลปรากฏอยู่ตามหัว  และปากยังมีรอยด่างของแผลเป็นปรากฏอยู่ ลักษณะเด่นของจระเข้ที่เป็นจ่าฝูงคือ  มักมีขนาดใหญ่กว่าจระเข้ตัวอื่นๆในฝูง  มีรูปร่างสมส่วน

 

ทำไมจระเข้ถึงชอบนอนอ้าปากผึ่งแดด

เมื่อจระเข้ผึ่งแดดมักนอนอ้าปาก  การที่จระเข้นอนอ้าปากนั้นเนื่องจาก
๑. เพื่อรับแสงอาทิตย์  ขณะเดียวกันก็เป็นการปรับอุณหภูมิไปในตัว เพราะจระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น
๒. เป็นการป้องปรามศัตรูและชูจมูกพร้อมตาให้สูงขึ้น
๓. การอ้าปากเป็นอิริยาบถพักผ่อนแบบสบายๆของจระเข้
๔. เพื่อให้นกปากแหลมบางชนิดมาจิกกินปลิงหรือทากที่สร้างความรำคาญภายในปาก
ลำตัวกลม  มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ  ครอบครองอาณาเขตคุ้งน้ำเป็นบริเวณกว้าง  ลำตัวจึงมักมีตะไคร่น้ำจับอยู่ เวลาว่ายน้ำจะลอยตัวตลอดหัวจรดหาง  ดูน่าเกรงขาม  มักชอบขึ้นผึ่งแดดในเวลาเช้าตรู่หรือเวลาเย็น  หางมักตั้งตรงโดยตลอดถึงปลายหางเพราะกล้ามเนื้อหางมีกำลังมาก ในขณะที่จระเข้ส่วนใหญ่ปลายหางมักจะพับแนบกับพื้นผัวหนังของจระเข้จ่าฝูงมันเป็นเลื่อม  ดูคล้ายมีน้ำมันชโลมไว้  มีสีสันคมชัด จระเข้จ่าฝูงชอบอยู่โดดเดี่ยว ไม่ยอมให้จระเข้ตัวอื่นเข้าใกล้ทั้งบนบกและในน้ำ

 

การล่าจระเข้ในอดีต

สมัยก่อนพรานนักล่าออกล่าจระเข้กันตามแม่น้ำ  ลำคลอง  หนองบึง  แต่ละคนต่างมีวิชาดีตามที่ได้ร่ำเรียนมาจากครู บางคนล่าโดยใช้ไม้ทองหลาง [ Erythrina subumbrans (Hassk.) Merr.] ขนาดท่อนเท่าต้นขายาวราว ๓ – ๕ ศอก  ไปกับเรือที่ใช้ล่าเมื่อเห็นจระเข้ที่ดุร้ายว่ายน้ำอ้าปากอยู่  ก็เอาท่อนไม้หลางยัดลงไปขวางปากจระเข้เมื่อจระเข้งับไม้ทองหลางซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน ฟันจะติดเข้าไปในเนื้อไม้  ถอนไม่ออกจากนั้นพรานจึงใช้เชือกพันและมัดปากจระเข้ตรงบริเวณ “ก้อนขี้หมา” ด้านในทันทีเมื่อจระเข้ถูกมัดไว้ก็จมน้ำไม่ลง ลอยเท้งเต้งอยู่  จระเข้ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เรียก จระเข้กล้อง (โบราณใช้คำ “กล้อง” เรียกสัตว์ที่อยู่ในสภาพที่ถูกทำร้าย  ถูกย่ำยี  ถูกคาบ  หรือถูกบีบรัดให้ได้รับความลำบาก) พรานบางถิ่นล่าจระเข้ที่ดุมากโดยการโยนฟัก [Benincasa  hispida (Thunb) Cogn.] ที่ต้มไว้ร้อนๆลงไปในปากของจระเข้ที่ลอยตัวอ้าปากอยู่ จระเข้จะงับและกลืนลงไปในท้องทันที ว่ากันว่าฟักที่ต้มไว้ร้อนๆนั้นทำให้จระเข้เจ็บปวดทุรนทุรายและตายได้
ปัจจุบันการล่าจระเข้ในธรรมชาติกลายเป็นตำนานที่นับวันจะเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน  เพราะจระเข้ในประเทศไทยแทบสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว ในอดีตการล่าจระเข้มักทำเพื่อกำจัดจระเข้ทีดุร้าย  เคยทำร้าย  หรือเกรงว่าจะทำร้ายมนุษย์  ผลผลิตจากจระเข้ที่ล่าได้จึงเป็นเพียงผลพลอยได้  เนื้อจระเข้กินได้  แต่ไม่ค่อยอร่อย  โดยมากกินกันเพราะเห็นเป็นของแปลก  แต่ก็กินเพียงครั้งสองครั้ง ส่วนหนังจระเข้ดูเหมือนเป็นผลพลอยได้สำคัญ  หรือบางครั้งอาจกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญในการล่าจระเข้  หนังจระเข้ใช้ทำเป็นเครื่องหนังต่างๆ  โดยเฉพาะกระเป๋าและเข็มขัด

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยรู้จักใช้เครื่องยาที่ได้จากจระเข้หลายอย่าง  ที่สำคัญได้แก่ เขี้ยวจระเข้  น้ำมันจระเข้  และหนังจระเข้  ดังนี้
๑.เขี้ยวจระเข้  เป็นเครื่องยาอย่างหนึ่งในพิกัด “เนาวเขี้ยว” อันได้แก่  เขี้ยวหมูป่า เขี้ยวหมี  เขี้ยวเสือ  เขี้ยวแรด  เขี้ยวหมาป่า เขี้ยวพะยูน เขี้ยวจระเข้ เขี้ยวเลียงผา และงาช้าง  พิกัดนี้มีสรรคุณแก้พิษร้อนถอนพิษไข้  ใช้เป็นทั้งเครื่องยาและน้ำกระสายยา
ในคัมภีร์ปฐมจินดาร์ให้ยาแก้ชางเด็กขนานหนึ่งเข้า “เขี้ยวจระเข้” และเขี้ยวสัตว์อื่นๆอีกหลายชนิด
๒.น้ำมันจระเข้ ได้จากการเคี่ยวเปลว (ไขมันที่อยู่รวมกันบริเวณลำไส้) ของจระเข้  แพทย์แผนไทยใช้น้ำมันจระเข้ปรุงกับเครื่องยาอื่นตามตำรับ  สำหรับทาแก้เคล็ดขัด ยอก แพลง ทำให้เส้นเอ็นหย่อนใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีโอสถขนานหนึ่ง คือขนานที่ ๖๙ สีผึ้งบี้พระเส้น  เข้า “น้ำมันจระเข้” เป็นเครื่องยาด้วย
๓. ดีจระเข้  เป็นถุงน้ำดีของจระเข้  เมื่อแห้งมีลักษณะคล้ายดีงูเหลือม  ปลายขั้วโตกว่าต้นขั้ว  ขั้วฝักมีพังผืดติดมาก  ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า  ดีจระเข้มีรสขม คาวมีสรรพคุณแก้สตรีที่คลอดบุตรแล้วโลหิตทำพิษให้จุกแน่น  ขับน้ำคาวปลาและเลือดเสีย  และทำให้ยาแล่นเร็ว  น้ำดีจระเข้ใช้เป็นน้ำกระสายยาหลายขนานในตำรายาพระโอสถครั้งรัชกาลที่ ๒ ส่วนที่เป็น “ตำราโรงพระโอสถ” มีบันทึกการใช้ “ดีจระเข้”เป็นเครื่องยาในตำรับยาแก้โรคต้อทุกชนิดไว้ดังนี้ สิทธิการิยจะกล่าวถึงคัมภีร์ยา  คือวิเศษสรรพคุณสำเร็จ  อันอาจาริยเจ้าในกาลก่อนประมวลไว้ให้แก้สรรพโรคทั้งปวงต่างๆบกันมาในที่นี้จะว่าแต่สรรพคุณวิเศษ  คือคณะสรรพคุณยา  ซึ่งจะแก้สรรพจักษุโรคสมมุติว่าต้อนั้น โดยไนยดังนี้ ๑.ยาชื่อสรรคุณวุฒิ  เอาพิมเสน  ดินถนำสุทธิ  บัลลังกุ์ศิลาสุทธิ โกฏทั้งห้า กระวาน ตรีกฏุก ตรีผลา รากกระพังโหม รากหญ้านาง รากชาเกลือ กะชาย ไพร หอม กะเทียม ขมิ้นอ้อย ชันกาด ดีงูเหลือม ดีจระเข้ ดีเต่า เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณ  บดด้วยน้ำมะนาว บดทำแท่งไว้  ฝนป้ายจักษุ แก้สรรพต้อทั้งปวงหายดีนักฯ ในศิลาจารึกตำรายาวัดราชโอรสาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้จารึกไว้ตามผนังกำแพงศาลารายรอบพระอุโบสถวัดราชโอรสฯ เมื่อครั้งที่ยังทรงดำรงอิศริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  มีตำรับยาขนานหนึ่งที่ใช้ “น้ำดีจระเข้” เป็นกระสายด้วย  ดังนี้ อนึ่ง เอาโคนสัพรศ ย่าเกล็ดหอย  ยาดำ  หัวหอม  เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณเอาน้ำดีจระเข้ ดีงูเหลือม ดีตะพาบน้ำ เป็นกระสาย บดทำแท่งไว้ใส่ตา กัดต้อเนื้อต้อสาย ต้อรำใย หายวิเสศดีนัก ฯ
๔. หนังจระเข้  เป็นหนังของจระเข้ แพทย์แผนไทยใช้ผสมกับเครื่องสมุนไพรอื่นปรุงเป็นยาแก้ปถวีธาตุพิการ (ธาตุดินพิการ) เช่นยาขนาน ๒๙ “ยาแก้ปถวีธาตุพิการ” ใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีบันทึกไว้ดังนี้ ถ้ามิถอย ให้เอา หนังจระเข้ มูลโค นอแรด หอยขม เขากระบือ ยา ๕ สิ่งนี้ เผาเสียก่อน กระเทียม ลูกจันทร์ ดีปลี แห้วหมู เสมอภาค ทำเป็นจุณ ละลายน้ำร้อน กินพอควร แก้ปถวีธาตุพิการ อันให้เจ็บท้องหนักมิรู้วาย ได้กินยานี้หายแล ฯ

 

รูปภาพจาก:lokmedee.blogspot.com,thaicrocodileoil168.com

 

ดินถนำสุทธิ