หูฉลาม

หูฉลาม

หูฉลามเป็นอาหารที่นิยมบริโภค

และจัดเป็นอาหารของชนชั้นสูงมาแต่โบราณ โดยเฉพาะในหมู่ชนชาติจีน หูฉลามเป็นของมีราคาแพง แต่มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยมากหูฉลามได้จากครีบของปลาฉลาม ซึ่งใช้ได้เกือบทุกครีบ (ยกเว้นครีบหาง ซึ่งไม่เป็นที่นิยม เพราะค่อนข้างแข็ง) ที่เรียก “หูฉลาม” นั้น อาจเนื่องจากครีบอกขนาดใหญ่ทั้ง ๒ ข้างของปลาฉลามมีลักษณะคล้ายใบหู นอกจากหูฉลามจะได้จากปลาฉลามแล้วยังอาจได้จากปลากระเบน โรนิน โรนัน ปลาฉนาก  เป็นต้น ปลาฉลามเป็นปลากระดูกอ่อนกลุ่มหนึ่ง มีรูปร่างเพรียวคล้ายกระสวย ทำให้สามารถว่ายน้ำได้เร็วมาก มีช่องเหงือกเปิดออกทางด้านข้าง ข้างละ ๕-๗ ช่อง   มีปากอยู่ด้านล่าง ภายในมีฟันแหลมคมและกรามที่แข็งแรงสำหรับกัดทึ้งเหยื่อ  ลำตัวมีเกล็ดละเอียดติดกันเป็นแผ่น สากเหมือนกระดาษทราย ครีบอกแยกจากส่วนหัว โดยฐานครีบตั้งอยู่ในแนวราบ ครีบหางตั้งขึ้น มีแพนหางช่วยในการว่ายน้ำ เมื่อชาวประมงจับปลาฉลามขึ้นมาได้   ก็จะตัดครีบทันที  โดยปลาฉลาม ๑ ตัวให้ครีบทั้งหมด ๘ ครีบ  เป็นครีบเดี่ยว ๔ ครีบ  ครีบคู่ ๒ คู่ ปลาฉลามที่พบทั่วโลกมีอยู่ราว ๓๔๐ ชนิด  แต่ละชนิดมีลักษณะเด่นแตกต่างกันไป ที่พบในน่านน้ำไทยมีไม่น้อยกว่า ๒๕ ชนิด แต่ที่พบได้บ่อยในอ่าวไทย ได้แก่ ฉลามหูดำ ฉลามหนู ฉลามเสือ ฉลามหิน ฉลามหัวค้อน

 

ชั้นปลากระดูกแข็ง

ชั้นปลากระดูกแข็ง (Class Osteicthyes) ทั่วโลกมีราว ๒๐,๐๐๐ ชนิด เป็นชั้นของปลาที่มีโครงร่างประกอบด้วยกระดูกแข็งเป็นส่วนใหญ่ มีเกล็ดอันเกิดจากเนื้อเยื่อผิว   ผิวหนังมีต่อมเมือกจำนวนมาก ช่องปากอยู่ในแนวขอบของหัว   มีครีบเดี่ยวและครีบคู่ ช่องเหงือกมีแผ่นกระดูกเป็นฝาปิดอยู่ พบได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม  และน้ำกร่อย บางชนิดมีเหงือกอุ้มน้ำได้ดี จึงอยู่บนบกได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น ปลาตีน ปลาหมอ สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ส่วนใหญ่มีการปฏิสนธิภายนอก ปลาในชั้นนี้ที่มีประโยชน์ทางยา ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสร้อย ปลาไหล

 

 รูปภาพจาก:allpetnews.com,world.kapook.com