สมุนไพรอบเชยญวณ

สมุนไพรอบเชยญวณ

อบเชยญวณ Cinnamomum camphora (L.) Presl.
บางถิ่นเรียกว่า อบเชยญวณ (ทั่วไป) พรมเส็ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

ไม้ต้น -> ขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 ม. ทรงพุ่มกว้าง ทึบ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1.5 ม. เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวหยาบ เปลือกกิ่งสีเขียว หรือน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ ไม่มีขน เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง
ใบ -> เดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 2.5-5.5 ซม. ยาว 5.5-15 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบป้านหรือกลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอมเทาหรือนวล ไม่มีขน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นการบูร เส้นใบขึ้นตรงมาจากโคนใบประมาณ 3-8 มม. แล้วแยกออกเป็น 3 เส้น ตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกนั้นมีต่อม 2 ต่อม และตามเส้นกลางใบอาจมีต่อมเกิดขึ้นตรงมุมที่มีเส้นใบแยกออกไป ก้านใบยาว 2-3 ซม. ไม่มีขน
ดอก -> ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ยาวประมาณ 5 ซม. สีขาวอมเหลืองหรืออมเขียว ก้านดอกย่อยยาว 1-2 มม. กลีบรวมมี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ๆ ละ 3 กลีบ รูปรี ด้านนอกเกลี้ยง ก้านในมีขนละเอียด เกสรเพศผู้มี 9 อัน เรียงเป็น 3 วง ๆ ละ 3 อัน อับเรณูของวงที่ 1 และวงที่ 2 หันหน้าเข้าด้านใน ก้านเกสรมีขน ส่วนอับเรณูของวงที่ 3 หันหน้าออก ด้านนอก ก้านเกสรค่อนข้างใหญ่ มีต่อม 2 ต่อมอยู่ใกล้โคนก้าน ต่อมรูปไข่กว้างและมีก้าน อับเรณูมีช่องเปิด 4 ช่อง เรียงเป็น 2 แถว ๆ ละ 2 ช่อง มีลิ้นเปิดทั้ง 4 ช่อง เกสรเพศผู้เป็นหมันมี 3 อันอยู่ด้านในสุด รูปร่างคล้ายหัวลูกศร มีขนแต่ไม่มีต่อม รังไข่รูปไข่ ไม่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาว ประมาณ 1 มม. ไม่มีขน ปลายเกสรเพศเมียกลม
ผล -> รูปไข่ หรือกลม ยาว 6-10 มม. สุกสีม่วงดำ มีฐานดอกซึ่งเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นแป้นรองรับผล


นิเวศน์วิทยา

เป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน


สรรพคุณ

ต้น -> กลั่นเนื้อไม้จะได้ camphor หรือ การบูรธรรมชาติ ใช้ผสมเป็นยาเพื่อป้องกันแมลงบางชนิด เป็นยาระงับประสาท แก้อาการชักบางประเภท ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด ขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด และขับลม ใช้ทาถูนวดแก้ปวดและเป็นยาฆ่าเชื้อโรคอย่างอ่อน

 

รูปภาพจาก:myspecies.info,natureshop.in.th,สมุนไพร