สมุนไพรมะเกลือป่า

สมุนไพรมะเกลือป่า

มะเกลือป่า Diospyros montana Roxb.
บางถิ่นเรียกว่า มะเกลือป่า (นครสวรรค์ ปราจีนบุรี) ตานส้าน (กลาง) ถ่านไฟผี (เหนือ) มะตูมดำ (สระบุรี).

ไม้ต้น -> ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงถึง 15 ม. ตามปลายกิ่งเล็ก ๆ มีหนามแข็ง ๆ เปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ด.
ใบ -> เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปมน ขอบขนาน รูปไข่ หรือ รูปไข่กลับ และมักเป็นรูปห้าเหลี่ยมกลาย ๆ กว้าง 1-5 ซม. ยาว 1.5-12 ซม. โคนใบมีทั้งสองแคบ กลม ตัด และเว้าเข้า ปลายใบทู่หรือมน ใบแห้งสีเหลืองอ่อนปนเขียว ใบอ่อนมีขนนุ่มทั้ง 2 ด้าน ขนเหล่านี้จะค่อย ๆ ร่วงไปเมื่อใบแก่ขึ้น เส้นใบมี 3-7 คู่ และจากจุดโคนใบจะมีเส้นใบ 3-5 เส้น ตามเส้นใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนก้านใบยาว 2-10 มม. มีขนประปราย.
ดอก -> ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน. ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อ ๆ ละหลาย ๆ ดอกตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนนุ่มในระยะแรก กลีบรองกลีบดอก 4 กลีบ ยาว 1-2 มม. โคนประสานกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง เกลี้ยง หรือ มีขนบางเล็กน้อยทั้ง 2 ด้าน กลีบดอก 4 กลีบ ยาว 8-10 มม. รูปเหยือกน้ำ โคนกลีบติดกันประมาณ 1 ใน 2 หรือ 1 ใน 3 ส่วน เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เกสรผู้มี 14-20 อัน ติดอยู่บริเวณโคนกลีบดอกด้านใน เรียงเป็น 2 วง เกลี้ยง รังไข่ฝ่อมีขนแข็ง ๆ. ดอกเพศเมีย ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 5 มม. เกลี้ยง กลีบรองกลีบดอก และกลีบดอกเหมือนดอกเพศผู้ แต่ใหญ่กว่า เกสรผู้ฝ่อมี 4-12 อัน เกลี้ยง รังไข่กลม เกลี้ยง ภายในแบ่งเป็น 8 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 1 หน่วย หลอดท่อรังไข่มี 4 หลอด เกลี้ยง.
ผล -> กลม หรือ ป้อม ๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 ซม. แห้งเมื่อแก่จัด เกลี้ยง และค่อนข้างเปราะ กลีบจุกผลมี 4 กลีบ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ไม่ติดกัน เมื่อยังอ่อนอยู่มีขนนุ่มทั้ง 2 ด้าน กลีบอาจชี้ในแนวระดับ หรือ พับกลับ ขอบเป็นคลื่น พื้นกลีบเรียบ ไม่มีเส้นลาย. ก้านผลยาว 5-7 ซม.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามป่าดิบแล้ง เขาหินปูน และป่าเหล่าทั่วไป เหนือระดับน้ำทะเล 10-600 ม.


สรรพคุณ

ราก -> มีรสเฝื่อน เค็มกร่อย และเบื่อเมา ชวนให้อาเจียน ใช้เป็นยาขับพยาธิ
ผล -> เป็นพิษ ตำรวมกับใบใช้เบื่อปลา

สมุนไพรมะเกลือป่า

รูปภาพจาก:mpbd.info,palungjit.org,สมุนไพร