สมุนไพรพะยอม

สมุนไพรพะยอม

พะยอม Shorea roxburghii G. Don
ชื่อพ้อง S. Floribunda Kurz
บางถิ่นเรียก พะยอม (กลาง) กุยอม (เชียงใหม่) ขะยอม (ลาว) ขะยอมดง พะยอมดง (เหนือ) แคน (เลย) เชียง เซี่ยว (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี ปราจีนบุรี) ยางหยวก (น่าน).

ไม้ต้น -> ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15-30 ม. ผลัดใบ ลำต้นตรง กิ่งอ่อนเกลี้ยง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกหนา สีน้ำตาล หรือ เทา เป็นสะเก็ดหนา และแตกเป็นร่องตามยาว.
ใบ -> รูปขอบขนานแคบ ๆ กว้าง 3.5-4 ซม. ยาว 8-10 ซม. โคนใบมน ปลายใบมน หรือ หยัก ปลายสุดเป็นติ่งสั้น ๆ ขอบใบมักเป็นคลื่น เนื้อใบเกลี้ยงเป็นมัน มีเส้นแขนงใบ 15-20 คู่ และโค้งขนานไปสู่ขอบใบ ก้านใบยาว 2-2.5 ซม.
ดอก -> สีขาว กลิ่นหอมจัด ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง หรือ เหนือรอยแผลใบ กลีบรองกลีบดอกเกลี้ยง สีคล้ำ มี 5 กลีบ ขอบหยักเป็นฟันเลื่อย กลีบดอก 5 กลีบ บิดเวียนกัน เกสรผู้ 15 อัน รังไข่มี 3 ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อน 2 ก้านดอกยาว 1.5 ซม.
ผล -> รูปกระสวยปลายแหลม กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาว 2 ซม. ปีกยาว 3 ปีก กว้างประมาณ 1 ซม. ยาว 8 ซม. ปีกสั้น 2 ปีก ยาวประมาณ 3 ซม. มีเส้นปีก ๆ ละ 10 เส้น.


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้ง ตลอดจนป่าดิบแล้งทั่ว ๆ ไปทุกภาค เหนือระดับน้ำทะเล 60-1,200 ม. ออกดอกหลังจากผลัดใบแล้ว.


สรรพคุณ

ต้น -> น้ำต้มเปลือกต้น กินเป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดิน และลำไส้อักเสบ เปลือกประสมเป็นสารกันบูดในเครื่องหมักดองบางชนิด และกินกับหมากได้.
ดอก -> ใช้เข้าเป็นยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ และลดไข้

 

สมุนไพรพะยอม

 

 

รูปภาพจาก:wordpress.com,th.wikipedia.org,สมุนไพร