สมุนไพรแตงไทย

สมุนไพรแตงไทย

แตงไทย Cucumis melo Linn.
บางถิ่นเรียก แตงไทย (กลาง ใต้) ซกเซเรา (เขมร-บุรีรัมย์) ดี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) แตงจิง (นครราชสีมา) แตงลาย มะแตงลาย มะแตงสุก (เหนือ).

ไม้เถา ลำต้นลาย เป็นสัน มือเกาะไม่แตกแขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลับกัน รูปกลม หรือ รูปไต เป็นเหลี่ยมเล็กน้อย หรือ เป็นแฉกตื้น ๆ 5-7 แฉก กว้างและยาว 8-15 ซม. โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบหยักเป็นซี่ฟัน มีขนสาก ก้านใบยาว 4-10 ซม. ดอก  ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมีย หรือ ดอกสมบูรณ์เพศ เกิดบนต้นเดียวกัน. ดอกเพศผู้ ออกเป็นกระจุกที่ง่ามใบ ก้านดอกสั้น ดอกบานเต็มที่ กว้าง 1.2-3.0 ซม. กลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ ยาว 6-8 มม. กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันที่โคนเพียงนิดเดียว กลีบรูปกลม ยาว 2 ซม. สีเหลือง เกสรผู้ 3 อัน ไม่ติดกัน ระหว่างอับเรณูมีติ่งยาว. ดอกเพศเมีย ออกเดี่ยว ๆ กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ ปลายท่อรังไข่มี 3-5 แฉก. ผล มีรูปร่างลักษณะ ขนาด และผิวนอกแตกต่างกันมาก รูปกลม หรือ ขอบขนาน ผิวเรียบ หรือเป็นร่อง เกลี้ยง หยาบ หรือ สานกันเป็นร่างแห สีเหลืองอ่อนจนถึงเหลืองแก่ เหลืองปนน้ำตาล หรือเขียว. เมล็ด มีจำนวนมาก สีขาว หรือ สีเนื้อ แบน ผิวเรียบ ยาว 5-15 มม.

นิเวศน์วิทยา : มีปลูกในเขตร้อน จนถึงเขตอบอุ่น เจริญเติบโตดีมากในเขตร้อน มีหลายพันธุ์.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้มราก กินเป็นยาทำให้อาเจียน และระบาย ดอก ดอกอ่อนตามแห้ง ต้มกินเป็นยาทำให้อาเจียน แก้โรคดีซ่าน บดเป็นผงใช้พ่นแก้แผลในจมูก. ผล กินได้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ขับน้ำนม ขับเหงื่อ บำรุงหัวใจ สมอง และแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เมล็ด กินได้ เป็นยาเย็น ขับปัสสาวะให้น้ำมันที่ใช้เป็นอาหารได้ เป็นยาช่วยย่อย และแก้ไอ

 

รูปภาพจาก:keywordsuggest.org,chemipan.com