สมุนไพรฟัก

สมุนไพรฟัก

ฟัก Benincasa hispida Cogn. ชื่อพ้อง B. cerifera Savi
บางถิ่นเรียก ฟัก (ทั่วไป) ขี้พร้า (ใต้) ดีหมือ ลุ่เค้ส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ฟักขาว ฟักเขียว ฟักจีน แฟง (กลาง) ฟักขี้หมู ฟักจิง มะฟักขม มะฟักหม่น มะฟักหม่นขม (เหนือ) มะฟักหอม (แม่ฮ่องสอน).

ไม้เถา ลำต้นยาวหลายเมตร มีขนหยาบทั้งต้น มือเกาะมี 2-3 แขนง. ใบ เดี่ยว เรียงสลุบกัน แผ่นใบกว้าง 10-20 ซม. ยาว 10-25 ซม. เป็นเหลี่ยม หรือ แฉก 5-11 แฉก ปลายใบแหลม ขอบใบหยักซี่ฟัน โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจกว้าง ๆ มีขนทั้ง 2 ด้าน ก้านใบยาว 10-20 ซม. ดอก ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ดอกบนเต็มที่กว้าง 6-12 ซม. ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 5-15 ซม. กลีบรองกลีบดอกโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นกลีบแคบ ๆ 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลือง โคนเชื่อมติดกันเพียงเล็กน้อย ปลายแยกเป็น 5 กลีบ กลีบรูปไข่กลับ ยาว 3-5 ซม. มีเส้นมองเห็นชัดเจน เกสรผู้ 3 อัน ติดอยู่ใกล้ปากท่อดอก อับเรณูหันออกด้านนอก. ดอกเพศเมีย ก้านดอกสั้น กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่รูปไข่ หรือ ทรงกระบอก ยาว 2-4 ซม. มีขนยาวปกคลุมหนาแน่น ท่อรังไข่สั้น ปลายท่อแยกเป็น 3 แฉก. ผล รูปไข่แกมขอบขนาน หรือ ขอบขนานค่อนข้างยาว กว้าง 10-20 ซม. ยาว 20-40 ซม. ผลอ่อนมีขน ผลแก่ผิวนอกมีนวลแป้งสีขาวเคลือบอยู่ ผิวแข็ง เนื้อสีขาวปนเขียวอ่อน หนา และอุ้มน้ำ เนื้อตรงกลางฟุ พรุน มีเมล็ดติดอยู่จำนวนมาก. เมล็ด รูปไข่ แบน กว้าง 5-7 มม. ยาว 10-15 มม. สีขาว หรือ สีน้ำตาลอ่อน ผิวเรียบ.

นิเวศน์วิทยา : มีถิ่นกำเนิดที่เกาะชวา ปัจจุบันปลูกกันมากในเอเชียเขตร้อน เพื่อใช้เป็นอาหาร.

สรรพคุณ : ราก น้ำต้นรากกินเป็นยาลดไข้ แก้กระหายน้ำ และถอนพิษทั้งหลาย ใบ ตำเป็นยาพอกแก้ฟกช้ำ และบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ แก้บวม แก้ผึ้งต่อย ผล กินได้ เป็นยาเย็นบำรุงร่างกาย เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ แก้ธาตุพิการ ไอเป็นเลือด น้ำยางผลดิบกินแก้อาการผิดปกติทางประสาทบางประเภท เช่น hysteron-epilepsy  แก้เบาหวาน อาการบวมน้ำ และโรคไต น้ำคั้นผล กินแก้อาเจียน และแก้โลหิตเป็นพิษ เปลือกผล กินแก้ช้ำใน แก้ปวดเอว เมล็ด เมล็ดและน้ำมันเมล็ด กินเป็นยาขับพยาธิ เป็นยาเย็น ยาระบาย ลดไข้ ลดอาการบวมอักเสบ ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร ลำไส้เล็กอักเสบ ทางเดินปัสสาวะ และไตอักเสบ บำรุงผิว.

 

รูปภาพจาก:blogspot.com,rajavithi.go.th