มันเทศ

มันเทศ

มันเทศ Ipomoea batatas Lamk.
บางถิ่นเรียกว่า มันเทศ (ภาคกลาง) แตลอ (มาเลย์-นราธิวาส) มันแกว (ภาคเหนือ) หมักอ้อย (ละว้า-เชียงใหม่).

ไม้ล้มลุก มีหัวใต้ดินรูปกระสวย หรือ หัวยาว ลำต้นเลื้อยบนดิน หรือ ตั้งตรง หรือ บางทีเลื้อยพัน สูง 1-5 ม. ค่อนข้างเป็นเหลี่ยม หรือ ทรงกระบอก แตกกิ่งก้านมาก ที่ข้อมีราก เกลี้ยง หรือ มีขน สีเขียว หรือ มีรอยแต้มสีม่วง มียางขาว. ใบ รูปไข่กว้าง หรือ รูปกล กว้าง 4-11 ซม. ยาว 4-14 ซม. ขอบเรียบ หรือ จักเป็นแฉก มี 3-5 แฉก แต่ละแฉกรูปไข่กว้าง หรือ รูปขอบขนานแคบ โคนใบรูปหัวใจกว้าง หรือ ตัด ผิวใบทั้งสองด้านเกลี้ยง หรือ มีขนกระจาย ก้านใบยาว 4-20 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ก้านช่อดอกแข็ง ยาว 3-18 ซม. เป็นสัน เกลี้ยง หรือ มีขน ก้านดอกยาว 3-12 มม. ใบประดับยาว 2-3 มม. ปลายแหลม มีติ่งเห็นชัด เกลี้ยง หรือ มีขนด้านหลัง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง หรือ รูปกรวย ยาว 3-4.5 ซม. สีม่วงอ่อน เกลี้ยง ก้านเกสรผู้เกลี้ยง ยกเว้นที่โคน รังไข่มีขน หรือ บางครั้งเกลี้ยง. ผล แห้ง รูปไข่ มี 4 ช่อง หรือน้อยกว่า. เมล็ด เกลี้ยง.

นิเวศน์วิทยา : มีถิ่นกำเนิดทางทวีปอเมริกาเขตร้อน พบตามไร่ร้าง นิยมปลูกเป็นพืชกินหัว ในระดับความสูง 1-1,300 ม.

สรรพคุณ : หัวใต้ดิน เป็นยาระบาย ชงเป็นน้ำดื่มแก้กระหายเมื่อเป็นไข้ เป็นยาบำรุงกระเพาะ ม้าม ไต เป็นอาหารที่เหมาะกับคนที่ฟื้นไข้ แก้อาการเมาคลื่น น้ำคั้นใช้รักษาแผลไฟไหม้ ทั้งต้น ใช้พันตามข้อแก้ไขข้ออักเสบ ยอดอ่อน เป็นอาหาร แต่มีกลดไฮโดรไซยาไนด์ (HCN) สูง กินมากเป็นอันตราย เป็นยาพอกใบ บดละเอียด ผสมเกลือ ใช้พวกฝีมะตอย รากและใบ เป็นยาพอกแผลแมลงป่องต่อย. ทั้งต้นและหัวใต้ดิน มีสารประกอบที่มีคุณสมบัติฆ่าแมลงและบักเตรี สารนี้เมื่อตกผลึกมีผลต่อบักเตรี ชนิด E. coli แกรมลบ และถ้าเป็นน้ำมีผลต่อบักเตรีแกรมบวก และเชื้อรา

 

รูปภาพจาก:samoeng.com,thaihealth.or.th