สมุนไพรถอบแถบเครือ

สมุนไพรถอบแถบเครือ

ถอบแถบเครือ  Connarus semidecandrus Jack
บางถิ่นเรียก ถอบแถบเครือ กะลำเพาะ จำเพาะ (ภาคกลาง) ถอนแถบ ขางขาว ขางแดง ขางน้ำครั่ง ขี้อ้ายเครือ (ภาคเหนือ)  เครือไหลน้อย (เชียงราย) ตองตีน ไม้ลำเพาะ ลำเพาะ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้) ลาโพ หมากสง (ภาคใต้).

         ไม้เถา หรือ ไม้พุ่มเลื้อย บางทีเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งก้านเมื่อยังอ่อนอยู่มีขนนุ่ม. ใบ เป็นใบประกอบ เรียงสลับกัน มีใบย่อย 3-7 ใบ ออกกึ่งตรงข้ามกัน รูปรี หรือ รูปหอก กว้าง 2-9 ซม. ยาว 4-25 ซม. ปลายใบทู่ หรือ เรียวแหลม โคนใบสอบแคบ หรือ มน ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนามันคล้ายแผ่นหนัง ด้านล่างบางทีมีตุ่มเล็กน้อย; เส้นใบมี 4-12 คู่ ค่อนข้างโค้งและบรรจบกันที่ขอบใบ. ดอก ออกเป็นช่อแตกกิ่งก้านกระจายที่ปลายยอดและใกล้ ๆ ปลายยอด ช่อดอกยาวถึง 35 ซม. มีขนสีน้ำตาลปนเหลือง หรือ สีสนิมเหล็ก กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ รูปไข่ หรือ รูปรี ยาว 2-4 มม. ปลายทู่ หรือ แหลม มีเส้นกลีบ 2 เส้น ด้านนอกมีขนนุ่ม ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกรูปหอก หรือ รูปขอบขนานแคบ ยาว 3-7 มม. ปลายทู่ ด้านนอกเกลี้ยง ยกเว้นที่ขอบและที่ปลาย มักมีต่อม เกสรผู้มี 10 อัน ยาว 5 อัน สั้น 5 อัน รังไข่มี 5 ช่อง มีขนนุ่มหนาแน่น. ผล กว้าง 1-2 ซม. ยาว 1.5-3.5 ซม. โคนมักสอบแคบเข้าหากัน เปลือกบาง ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนนุ่ม แก่จัดปริแยกออกจากกันทางด้านข้าง ก้านยาว 5-15 มม. เมล็ด มี 1 เมล็ด โคนมีเนื้อสีเหลืองหุ้ม

นิเวศน์วิทยา : พบตามป่าดิบ หรือ ป่าผลัดใบ ตามริมฝั่งน้ำ ที่รกร้างว่างเปล่า ป่าละเมาะ และ ป่าแพะ ระดับความสูง 0-1,000 ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นผลเดือนเมษายน-มิถุนายน.

สรรพคุณ : ต้นอ่อน รับประทานเป็นผัก ราก เข้ายารักษาไข้. ใบ ต้มรักษาโรคเจ็บหน้าอก ทั้งต้นและใบ เป็นยาระบาย แก้พิษตามซางและไข้ ขับพยาธิ

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,flickr.com,สมุนไพร