สมุนไพรกระต่ายจันทร์

สมุนไพรกระต่ายจันทร์

กระต่ายจันทร์ Centipida minima (Linn.) A.Br. & Ascher.
บางถิ่นเรียก กระต่ายจันทร์ (กรุงเทพฯ) สาบแร้ง (ภาคกลาง) หญ้ากระจาม (สุราษฎร์ธานี) หญ้าจาม (ชุมพร) เหมือนโลด (นครราชสีมา).

ไม้ล้มลุก อายุหนึ่งปี ขนาดเล็ก ลำต้นทอดนอนไปตามพื้นดิน ส่วนปลายชูขึ้น มักแตกกิ่งก้านมาก เมื่ออ่อนอยู่มีขนยุ่งคล้ายใยแมงมุม หรือ ค่อนข้างเกลี้ยง. ใบ ดก ไม่มีก้านใบ รูปช้อน กว้าง 2-7 มม. ยาว 4-20 มม. ปลายใบมน โคนใบสอบแคบ ขอบใบจักเป็นซี่ฟัน 2-3 ซี่เทากันทั้งสองข้าง เมื่อแรกมีขนยุ่งคล้ายใยแมงมุมบนผิวทั้งสองด้าน โดยเฉพาะด้านล่าง ต่อไปเกลี้ยง. ดอก เป็นกระจุก ออกตามง่ามใบ ค่อนข้างกลมแบน วัดผ่าศูนย์กลาง 2-4 มม. ไม่มีก้านดอก ริ้วประดับรูปไข่กลับแกมขอบขนาน ยาว 1-1.5 มม. ปลายกลมแต่จักเป็นซี่ฟัน มีขนเป็นใบแมงมุมกระจาย หรือ ไม่มี ฐานดอกนูนมาก ดอกวงนอกมีจำนวนมาก กลีบดอกสีขาว ดอกวงในกลีบดอกสีเหลือง หรือ แต้มสีม่วง. เมล็ด แห้ง รูปขอบขนาน ปลายจะหนากว่าส่วนอื่น ยาวเกือบ 1 มม. มีขนแข็งสีขาวเล็กน้อย.

นิเวศน์วิทยา : ชอบขึ้นในที่ชื้น ตามนาข้าว หรือ ตามชายฝั่ง.

สรรพคุณ : ทั้งต้น ต้มทำเป็นยาพอกที่แก้มแก้ปวดฟัน  ตากแห้งทำเป็นยาชงมีรสเผ็ดร้อน ดื่มทำให้สายตาดี บรรเทาอาการบวม เป็นยาระงับพิษ ดับพิษสุรา แก้โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคริดสีดวงทวาร โรคมาเลเรีย โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร แก้ฟันผุในเด็ก และใส่แผลเด็ก ใบและเมล็ด บดเป็นผงเป็นยาทำให้จาม เมล็ด เป็นยาขับพยาธิ

 

รูปภาพจาก:blogspot.com,keys.lucidcentral.org,สมุนไพร