สมุนไพรหนาดใหญ่

สมุนไพรหนาดใหญ่

หนาดใหญ่ Blumea balsamifera (Linn.) DC.
บางถิ่นเรียก หนาดใหญ่ ใบแหลม ผักชีช้าง พิมเสน (ภาคกลาง) คำพอง หนาดหลวง (ภาคเหนือ) จะบอ (มาเลย์-ปัตตานี) ตั้งโฮงเซ้า (จีน) แน, พ็อบกวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หนาด (จันทบุรี).

         ไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 0.5-4.0 ม. กิ่งก้านรูปทรงกระบอก มีขนนุ่นยาว เปลือกลำต้นสีน้ำตาลเทา มีกลิ่นการบูร. ใบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 1.5-12.0 ซม., ยาว 6-30 ซม. ปลายและโคนใบแหลม, ขอบใบจักเป็นซี่ฟัน หรือ ฟันเลื่อย  ด้านบนมีขนนุ่มละเอียด ด้านล่างมีขนนุ่มสีขาวคล้ายเส้นไหม ก้านใบมีระยางค์ 2-3 อัน. ดอก เป็นกระจุก, ออกเป็นช่อตามง่ามใบและที่ปลายยอด ช่อดอกใหญ่มีขนาดต่าง ๆ กัน ยาวตั้งแต่ 10-50 ซม. กว้าง 6-30 ซม. ริ้วประดับมีหลายชั้น, บางทียาวกว่าดอก, รูปขอบขนานแคบ, ยาว 1-9 มม. ปลายแหลม, ด้านหลังมีขนนุ่มหนาแน่น, ฐานดอกวัดผ่าศูนย์กลาง 2-4 มม. ค่อนข้างโค้ง, ขนเกลี้ยง ดอกสมบูรณ์เพศ ท่อกลีบดอกยาว 4-7 มม., ปลายท่อแยกเป็นแฉกรูปไข่ ปลายแหลม, ขนนุ่ม ดอกเพศเมีย ท่อกลีบดอกจะเล็กเรียว, ยาวไม่เกิน 6 มม. ปลายท่อแยกเป็น 2-4 แฉก, เกลี้ยง. ผล แห้ง, รูปขอบขนาน, ยาวประมาณ 1 มม. สีน้ำตาล มีขนสีขาวประปราย และเป็นสัน.

นิเวศน์วิทยา : เป็นพืชที่มีการกระจายพันธุ์ได้ทั่วไป ตามที่แห้งแล้ง ดินทราย ที่รกร้างว่างเปล่า ในทุ่งหญ้า หรือ ตามไหล่เขา แม้แต่ที่ชื้นริมฝั่งแม่น้ำ ตั้งแต่ความสูงระดับน้ำทะเลถึง 1,200 เมตร มักปลูกเป็นพืชสมุนไพร.

สรรพคุณ : ทั้งต้น เป็นยาเบื่อปลา น้ำคั้นแก้ไข้ ขับพยาธิ แก้ลมแดด เจ็บหน้าอก อหิวาตกโรค ปวดท้อง ลดความดัน เป็นยาระงับประสาท ราก น้ำต้มบรรเทาอาการหวัด ดับกระหาย. ใบ เป็นยาเจริญอาหาร ระงับอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ห้ามเลือด แก้โรคไขข้ออักเสบ กินเป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตร เป็นยาขับเหงื่อ ขับเสมหะ บรรเทาอาการปวดท้อง ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุไม่ปกติ มุตกิด เหน็บชา  หั่นมวนกับยาสูบ เป็นยาแก้ริดสีดวงจมูก เนื่องจากใบหนาดมีน้ำมันหอมระเหยและการบูร ต้มน้ำอาบทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น แก้โรคหิด

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,disthai.com,สมุนไพร