สมุนไพรตะแบกเลือด

สมุนไพรตะแบกเลือด

ตะแบกเลือด Terminalia mucronata Craib & Hutchinson
ชื่อพ้อง T. corticosa Pierre ex Laness.
บางถิ่นเรียก ตะแบกเลือด (ภาคตะวันตกเฉียงใต้) โคะกาง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ปราบตำเลีย (เขมร-บุรีรัมย์) เปีย (อุบลราชธานี) เปื๋อยปั่ง เปื๋อยปี เปื๋อยสะแอน (ภาคเหนือ); มะกาเถื่อน (เงี้ยว-ภาคเหนือ) มะเกลือเลือด (ภาคกลาง).

       ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูงถึง 35 ม. ผลัดใบ เปลือกร่อนเป็นแผ่น ๆ. ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน หรือ กึ่งตรงข้ามกัน รูปรีแกมขอบขนาน หรือ รูปรีกว้าง กว้าง 5-8 ซม. ยาว 8-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบเป็นหางเข้าสู่ก้านใบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ มีขนทั้งสองด้านเมื่อยังอ่อนอยู่ เมื่อแก่ขนจะเกลี้ยง ก้านใบยาว 1-2 ซม. มีต่อม 1 คู่ที่ตรงปลาย ก้านใบต่อกับเส้นกลางใบ. ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ มีขนสีสนิมเหล็ก ยาว 9-15 ซม. ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน ตอนล่างเป็นท่อยาว 2-3 มม. ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ปลายแยกออกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม ด้านในมีขนนุ่ม ไม่มีกลีบดอก เกสรผู้มี 10 อัน ยาว 3-4 มม. รังไข่มี 1 ช่อง ท่อเกสรเมียยาว 2-3 มม. ผล ค่อนข้างกลม กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 3-4 ซม. มีปีกหนา 2 ปีก ขนละเอียดนุ่ม สีสนิมเหล็ก.

นิเวศน์วิทยา : พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ระดับความสูงถึง 700 ม. ผลัดใบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ผลิใบอ่อนและตาดอกเดือนมีนาคม-เมษายน; ผลแก่เต็มที่เดือนมิถุนายน.

สรรพคุณ : หมอพื้นเมืองใช้เปลือกต้นปรุงเป็นยาแก้บิดมูกเลือด และลงแดง

 

รูปภาพจาก:biogang.net,komchadluek.net,สมุนไพร