สมุนไพรมะกอกเกลื้อน

สมุนไพรมะกอกเกลื้อน

มะกอกเกลื้อน Canarium subulatum Guill.
บางถิ่นเรียก มะกอกเกลื้น (ราชบุรี) กอกกัน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ซาลัก (เขมร) มะกอกเลือด (ใต้) มะเกิ้ม (เหนือ) มะเลื่อม (พิษณุโลก จันทบุรี) มักเหลี่ยม (จันทบุรี) โมกเลื่อม (ปราจีนบุรี).

            ไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร เปลือกสีน้ำตาล ตัดตามขวาง จะมีกลิ่นหอมแรงและมียางสีขาว ตามกิ่งมีแผลใบเห็นเด่นชัด. ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 2-5 คู่ หูใบติดอยู่ที่รอยต่อระหว่างกิ่งกับก้านใบเหนือรอยต่อยาว 1 ซม. เป็นแผ่นแบนๆ โคนกว้างปลายเรียวแหลม ร่วงง่าย ยาว 0.7-2.5 ซม. มีขน แผ่นใบย่อยมีตั้งแต่รูปไข่ค่อนข้างกว้างจนกระทั่งรูปหอก กว้าง 3.5-11 ซม. ยาว 9-18 ซม. ด้านบนมีขนประปรายที่เส้นกลางใบและเส้นใบ ด้านล่างมีขนสั้น ๆ ทั่วไป โคนใบของใบย่อยคู่ล้างสุดไม่เบี้ยว รูปกลม รูปหางเต่า หรือ รูปหัวใจ โคนใบย่อยตั้งแต่คู่ที่ 2 ขึ้นไปมักจะเบี้ยว ขอบใบหยักแบบซี่เลื่อยตื้น ๆ มีขนเป็นกระจุกเล็กๆ ตามรอยหยัก เส้นใบนูนเด่น ด้านล่างเห็นชัดกว่าด้านบน เส้นใบมี 10-20 คู่. ดอก ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกัน ช่อดอกเพศผู้ยาว 7-25 ซม. ช่อดอกเพศเมียยาว 8-10 ซม. ดอกยาว 7-11 มม. มีขน กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว 2.5-3.5 มม. ขอบหยัก เกสรผู้ 6 อัน เกลี้ยงในดอกเพศผู้ จะเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของความยาว ในดอกเพศเมีย เกสรผู้มีขนาดเล็ก. ผล ช่อหนึ่ง ๆ มีผล 1-4 ผล ผลรูปไข่ กลม หรือ สามเหลี่ยม กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 2.7-3.5 ซม. มีขน โคนผลมีกลีบรองกลีบดอกรูปจานรองติดอยู่ กว้าง 6 มม.

นิเวศน์วิทยา : พบในป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบและทุ่งหญ้า ชอบขึ้นในที่แห้ง

สรรพคุณ : ยาง ทาแก้คัน เป็นเครื่องหอม ผล แก้ไอ ขับเสมหะ รับประทานได้

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,qsbg.org