น้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าวเป็นน้ำมันระเหยยากที่บีบหรือสกัดได้จากเนื้อในเมล็ดมะพร้าว ต้นมะพร้าว
มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Cocos nucifera L.
จัดอยู่ในวงศ์ Palmae

มีถิ่นกำเนิดที่เกาะโคโคสและเกาะคีลลิง ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นพืชอาสินที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก
บางถิ่นเรียก หมากอุ๋น หมากอูน ต้นมะพร้าวมีชื่อสามัญว่า coconut palm หรือ coconut tree มะพร้าว
เป็นไม้ยืนต้นสูง ๒๐-๓๐ เมตร (ในปัจจุบันมีการผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ให้ได้พันธุ์เตี้ยที่ไม่สูงเกิน ๒๐ เมตร) ไม่แตกกิ่งก้านสาขา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงซ้อนกันเป็น กระจุกที่ยอด มี ๓๐-๕๐ ใบ ใบยาว ๓-๗ เมตร กว้าง ๑-๑.๔๐ เมตร มีใบย่อยจำนวนมาก มายย่อยรูปแคบยาว กว้าง ๓-๗ เซนติเมตร ยาว ๖๐-๙๐ เซนติเมตร แผ่นใบบาง เนื้อเหนียว เส้นกลางใบย่อยสีเหลือง ก้านใบประกอบยาว ๙๐-๑๕๐ เซนติเมตร โคนบานออกโอบติดกับลำต้น ดอกออกรวมเป็นช่อ จากซอกใบ ช่อดอกมีกาบหุ้ม กาบแตกตามยาว เรียก จั่นพร้าว ดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่ต่างดอกกัน ดอกเพศผู้มากอยู่ทางปลายช่อ ขนาดเล็กมีเกสรเพศผู้ ๖ อัน เกสรเพศเมียเป็นหมัน มีขนาดเล็ก หรือไม่มีเลย ดอกเพศเมียมักอยู่ที่โคนช่อ มีขนาดใหญ่ ขนาดวัดผ่านศูนย์กลางราว ๒.๕ เซนติเมตร มีกลีบดอก ๖ กลีบ รังไข่ทรงสามเหลี่ยม ผลเป็นช่อขนาดใหญ่ เรียก ทะลาย ติดอยู่บนแกนดอกช่อที่แข็งแรง ผลทรงกลม หรือรีแกมรูปสามเหลี่ยม ยาว ๒๐-๓๕เซนติเมตร วัดผ่านศูนย์กลางได้ ๒๑-๒๔ เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีน้ำตาล เปลือกนอกเรียบ เนื้อเหนียว ชั้นกลางเป็นเส้นใยนุ่ม เรียก ใยมะพร้าว เปลือกชั้นในแข็งมาก เรียก กะลา เนื้อในเมล็ดสีขาว ภายในมีน้ำใส เรียก น้ำมะพร้าว เนื้อในเมล็ดนั้น หั่นเป็นชิ้น ตากแดดให้แห้ง มีชื่อเรียกว่า เนื้อมะพร้าวแห้ง มีน้ำมันระเหยยากอยู่ราวร้อยละ ๖๐-๖๕ เมื่อนำเอาไปบีบและเคี่ยวจะได้น้ำมันระเหยยาก เรียก น้ำมันมะพร้าว ซึ่งประกอบด้วยสารกรดไขมันหลายชนิดเช่น กรดลอริกราวร้อยละ ๔๕ กรดคาปริก ราวร้อยละ ๑๐ กรดคาไพรลิก ราวร้อยละ ๙ กรดปาล์มเมติก ราวร้อยละ๗

น้ำมันมะพร้าวที่เตรียมได้ใหม่ๆ จะเหลว ใส มีกลิ่นหอม ที่ ๓๐° ซ หรือสูงกว่านั้น เมื่อเก็บไว้ในที่เย็นลง (ที่อุณหภูมิต่ำกว่า ๒๐) จะเริ่มข้นขาวคล้ายเนื้อเนยแข็ง มีกลิ่นเฉพาะตัว ใช้ปรุงอาหาร โบราณใช้เป็นยาทาแก้กลาก ทาแผลที่เกิดจากความเย็นจัดหรือร้อนจัด ใช้ผสมกับยาอื่นทาแก้โรคผิวหนังต่างๆ ใช้ทาตัวแก้ผิวหนังแตกลายเป็นขุย มะพร้าวเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก คนไทยและคนต่างและคนชาติอื่นๆหลายชาติ รู้จักใช้ประโยชน์จากแทบทุกส่วนของต้นมะพร้าว ไส้กลางต้นและยอดอ่อนกินได้ เนื้อในเมล็ดและน้ำคั้นจากเนื้อในเมล็ดเรียก น้ำกะทิ ใช้ปรุงอาหารทั้งคาวหวาน โบราณรู้จักใช้ส่วนต่างๆของต้นพร้าวเป็นยา เช่น รากมะพร้าวมีรสฝาดหวาน ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาแก้ท้องเสีย ต้องเอาน้ำ อมแก้ปากเจ็บ เปลือกต้นเผาเป็นเถ้า ใช้ทาแก้หิด ใช้สีฟันแก้ปวดฟัน ดอกมีรสฝาดหวาน มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ท้องเดิน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นยาบำรุงโลหิต แก้ปากเปื่อย เปลือกผล (ชั้นนอกที่เรียบเหนียวกับชั้นกลางที่เป็นเส้นใย) มีรสฝาดขม สุขุม ใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวด แก้อาเจียน และห้ามเลือด

กะลามะพร้าวตากแดดให้แห้ง ใช้ปรุงเป็นยาแก้ปวดเอ็น ปวดกระดูก หรือเพราะเขาเป็นถ่านแล้วบดเป็นผง กินเป็นยาแก้ท้องเสียและยาดูดพิษต่างๆ เนื้อมะพร้าว(เนื้อในเมล็ด) รสสุขุม กินเป็นยาบำรุงกำลัง ยาขับพยาธิ

น้ำมะพร้าว มีรสหวานสุขุม แก้กระหาย ทำให้ดวงจิตรชุ่มชื่น แก้อ่อนเพลีย บำรุงครรภ์ บำรุงหัวใจ แก้พิษ แก้อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น โบราณถือว่าน้ำมะพร้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์ ใช้ล้างหน้าศพก่อนเผา มะพร้าวพันธุ์หนึ่งมีผลอ่อนสีเหลืองอมแสนหรือแดง เรียก มะพร้าวไฟ แพทย์โบราณนิยมใช้เนื้อคั้นเอาแต่หัวกะทิ ผสมกับน้ำค้างสมุนไพรอื่น เคี่ยวเป็นยาน้ำมัน

 

รูปภาพจาก:haijai.com,aromalab.gr