สมุนไพรค้อนหมาแดง

สมุนไพรค้อนหมาแดง  

ค้อนหมาแดง  Ancistrocladus tectorius (Lour.) Merr.
บางถิ่นเรียก ค้อนหมาแดง (นครราชสีมา) หางกวาง (นครพนม) หูกลวง (ปราจีนบุรี) คันทรง ทองคันทรง (ชลบุรี) ค้อนตีหมา (ยะลา) ยูลา (นราธิวาส) กะม้า ขุนนา (เขมร).

เป็นไม้เถา ขนาดใหญ่ เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ๆ กิ่งก้านเล็ก ๆ เปลี่ยนเป็นมือ มีลักษณะเป็นขอแข็ง ๆ สำหรับยึดเกาะ ใบ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง รูปใบคล้ายรูปหอกกลับ หรือ รูปรี ปลายใบแหลม โคนใบเรียวแหลม ค่อย ๆ สอบเข้าหาก้านใบ ตัวใบแข็งกระด้าง เส้นใบเชื่อมกันก่อนถึงขอบใบ ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่น ใบกว้าง 3.5-7 ซม. ยาว 12-29 ซม. ก้านใบสั้นมาก หรือ ไม่มีก้านใบ. ดอก ออกที่ยอดเป็นช่อกระจาย แต่ละดอกมีขนาดเล็ก กลีบรองกลีบดอกติดกันตอนโคนเป็นท่อสั้นๆ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อเป็นผลจะเจริญเป็นปีกหุ้มผลไว้ กลีบดอกมี 5 กลีบ สีแดงเข้ม ผล ขนาดประมาณ 0.5 ซม. มีปีก 5 ปีก ซึ่งยาวไม่เท่ากันรองรับ

นิเวศน์วิทยา  พบขึ้นตามป่าดงดิบทั่วๆ ไป

สรรพคุณ  ใบอ่อนรับประทานได้เป็นผัก แพทย์แผนโบราณของไทยทางภาคตะวันออก และปราจีนบุรี ใช้ต้มเอาน้ำอาบแก้บวมตามตัว และเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง ในมาเลเซีย นำรากมาต้มเป็นยาแก้โรคบิด และไข้จับสั่น.

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,flickr.com,สมุนไพร