สมุนไพรปรู

สมุนไพรปรู

ปรู (Alangium salviifolium wang.)
บางถิ่นเรียก ปรู ปลู ผลู (ภาคกลาง) ปู๋ ปรู๋ (ภาคเหนือ – ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มะเกลือกา (ปราจีนบุรี) มะตาปู๋ (เชียงใหม่).

ไม้เป็นต้น ขนาดกลาง หรือ ไม้พุ่ม กิ่งก้านเกลี้ยง หรือ เกือบเกลี้ยง กิ่งอ่อนมีขน. ใบ ออกสลับกัน รูปใบไม่แน่นอน มักจะเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปรี ปลายใบกว้างและเป็นติ่งแหลม โคนใบแคบแหลม ขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีขน เมื่อใบแก่ขึ้นขนก็จะร่วงหลุดไป เส้นตรงโคนใบออกจากจุดเดียวกัน ส่วนกลางใบออกเป็นคู่ ๆ 3-6 คู่ ใบกว้าง 2.5-7 ซม. ยาว 4.5-15 ซม. ก้านใบยาว 0.5-15 ซม. ดอก ออกเป็นกระจุกสีเหลืองอ่อน หรือนวล กลิ่นหอม มีขนอ่อน ๆ ปกคลุมทั่วทั้งดอกตลอดจนก้านดอก ก้านดอกสั้น ดอกตูมเป็นหลอดยาวประมาณ 1.3 ซม. กลีบรองกลีบดอกติดกันตอนโคนเป็นรูปกรวย ปลายแยกเป็น 5-7 แฉก ยาว 0.2-0.5 ซม. มีขน กลีบดอกรูปขอบขนาน 5-7 กลีบ ยาว 1.2-1.7 ซม. เกสรผู้มี 10-18 อัน (ส่วนมากมี 12 อัน) โคนก้านเกสรมีขนยาว ๆ เกสรเมียเกลี้ยง. ผล ออกเป็นกระจุก สีดำ รูปรี ขนาดกว้าง 0.9 ซม. ยาว 1.5 ซม. ที่ปลายลูกมีกลีบรองกลีบดอกติดอยู่ และมีสันแข็ง ๆ ตามยาวของผลหลายอัน รับประทานได้ รสฝาด.

นิเวศน์วิทยา  พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้ง ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ

สรรพคุณ  สรรพคุณทางยาไทย คือ แก่นมีรสจืด เฝื่อน บำรุงน้ำเหลือง บำรุงกำลัง เปลือกแก้หืด ไอ ท้องร่วง ผลบำรุงธาตุ ขับพยาธิ แก้จุกเสียด เนื้อไม้ แก้ริดสีดวงลำไส้และทวารหนัก ในอินเดีย ใช้ใบ ราก และเปลือกรากเป็นยา กล่าวคือ ใบ ใช้ตำพอกแก้โรคปวดตามข้อ ราก มีสาร Alkaloid alagine เมื่อนำมาต้มผสมกับเนยบริสุทธิ์ ใช้แก้พิษสุนัขกัด ขับพยาธิ แก้จุกเสียด โรคท้องมาร เปลือกและรากมีรสขม ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน ใช้แก้ยาพิษต่าง ๆ เป็นยาระบาย แก้โรคเรื้อน และโรคผิวหนัง รากบดเป็นผงละเอียดผสมกับน้ำข้าว และน้ำผึ้ง รับประทานแก้พิษงูเห่ากัด.

 

รูปภาพจาก:dnp.go.th,pinterest.se,สมุนไพร