สัตวชาติในภูมิปัญญาไทย

สัตวชาติในภูมิปัญญาไทย

ในสมัยโบราณเมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้พัฒนานั้น มนุษย์ใช้สิ่งที่มองเห็น รับรู้ และสัมผัสได้ ในการแสดงคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิต แต่ความรู้พื้นบ้านมิได้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังๆได้รับรู้โดยตรง นอกจากรูปวาดตามฝาผนังถ้ำที่อยู่อาศัยหรือตามวัดวาอาราม อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาตำรายาโบราณที่ได้รับการบันทึกไว้สืบทอดกันมานานนั้น พบว่าบรรพบุรุษไทยรู้จักจัดสิ่งมีชีวิตเป็นหมวดหมู่เหมือนกัน เช่น ในเรื่องพรรณพฤกษชาติอันมีคุณยานั้น ตำราฯได้แบ่งหมวดหมู่ของพืชออกเป็นประเภทต้น ประเภทเถาและเครือ ประเภทหัวและเหง้า ประเภทผัก ประเภทหญ้า ประเภทเห็ด เป็นต้น

ตำราฯได้บันทึกการใช้เครื่องยาสัตววัตถุไว้หลายชนิด โดยจัดหมวดหมู่ของสัตว์ที่ให้เครื่องยาเหล่านั้นเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มสัตว์บก  กลุ่มสัตว์น้ำ  และกลุ่มสัตวอากาศ อันเป็นการจัดแบ่งกลุ่มแบบเรียบง่ายและพื้นฐานที่สุด ก่อนที่องค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตจะพัฒนาขึ้น จนทำให้มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงระบบและวิธีคิดใหม่ในการจัดหมวดหมู่ของสิ่งมีชีวิต เช่น โบราณจัดค้างคาวอยู่ในกลุ่มอากาศ แต่จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยืนยันว่า ค้างคาวแตกต่างจากนกทั่วไป   อันเป็นสัตว์อากาศ หรือปลาหมึกซึ่งอยู่ในกลุ่มสัตว์น้ำโบราณและเรียก”ปลา” นั้น มีความแตกต่างจากปลาทั่วไปอันเป็นสัตว์น้ำ

 

รูปภาพจาก:วัยรุ่น – Mthai.com,suanmuangporn.com