สมุนไพรตะขบป่า

สมุนไพรตะขบป่า

ตะขบป่า Flacourtia indica (Burm. f.)
บางถิ่นเรียก ตะขบป่า (ภาคกลาง) ตานเสี้ยน มะเกว๋นนก มะเกว๋นป่า (ภาคเหนือ)

ไม้พุ่ม หรือ ไม้ต้น -> ขนาดเล็ก ผลัดใบ สูง 2-5(-15) ม. ตามลำต้นและกิ่งใหญ่มีหนามแหลม ยาว 2-4 ซม. เรือนยอดแผ่นกว้าง ปลายกิ่งโค้งลง เปลือกสีเหลืองอมเทา แตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายห่าง ๆ
ใบ -> เดี่ยว ออกเวียนสลับ ขนาดค่อนข้างเล็ก รูปร่าง ขนาดเนื้อใบ และขนที่ปกคลุมแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นรูปไข่กลับ กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 2-4 ซม. ปลายใบกลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบค่อนข้างเรียบ หรือ จัก มักจักใกล้ปลายใบ ใบอ่อนและเส้นกลางใบสีแดงอมส้ม เส้นใบมี 4-6 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห พอเห็นได้ลาง ๆ ก้านใบยาว 3-5 มม. สีแดง มีขน
ดอก -> ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ และที่ปลายกิ่ง มีขน แต่ละช่อมีดอกจำนวนน้อย ที่โคนช่อมีใบประดับ บางทีมีหนาม ก้านดอกยาว 3-5(-7) มม. มีขน กลีบดอก 5-6 กลีบ รูปไข่ ปลายมน ยาว 1.5 มม. ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ด้านในและที่ขอบกลีบมีขนแน่น ดอกแยกเพศ ดอกเพศผู้ ฐานดอกจักมน เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านเกสรยาว 2-2.5 มม. มีขนเฉพาะที่โคน ดอกเพศเมีย ฐานดอกเรียบ หรือ ค่อนข้างเรียบ รังไข่กลม ปลายสอบแคบ ก้านเกสรเพศเมียมี 5-6 อัน ยาวประมาณ 1 มม. แต่ละก้านปลายแยกเป็นสองแฉก และม้วนออก
ผล -> กลม หรือ รี เล็ก ออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นกลุ่มตามกิ่ง เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 ซม. เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีแดงคล้ำ มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล มีเมล็ด 5-8 เมล็ด


นิเวศน์วิทยา

ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายหาด และขึ้นประปรายทั่วไป ในที่ระดับน้ำทะเลถึงความสูง 1,100 ม. มีปลูกบ้างตามสวนที่เพื่อกินผล


สรรพคุณ

ราก -> กินแก้ไตอักเสบ
ต้น -> ยางจากต้นใช้เข้าเครื่องยา แก้อหิวาตกโรค  เปลือกต้น ชงกินแก้เสียงแห้ง อมกลั้วคอแก้เจ็บคอ เปลือกตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวดแก้ปวดท้อง แก้คัน
ใบ น้ำยางจากต้น และใบสด -> กินเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก แก้โรคปอดอักเสบ แก้ไอ แก้บิด และท้องเสีย ช่วยย่อย น้ำต้มใบแห้งกินเป็นยาฝาดสมาน ขับเสมหะ แก้หืดหอบ หลอดลมอักเสบ ขับลม และบำรุงร่างกาย  ใบที่ย่างไฟจนแห้งใช้ชงกินหลังคลอดบุตร
ผล -> กินได้ มีปริมาณวิตามินบีสูง แก้อ่อนเพลีย บรรเทาอาการโรคดีซ่าน ม้ามโต แก้คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นยาระบาย เมล็ด ตำพอกแก้ปวดข้อ

 

รูปภาพจาก:bloggang.com,youtube.com,สมุนไพร