ความหมายของสมุนไพร

ความหมายของสมุนไพร

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ความหมายของคำ “สมุนไพร” ว่า “ผลผลิตธรรมชาติได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรคบำรุงร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ เช่น กระเทียม น้ำผึ้ง รากดิน(ไส้เดือน) เขากวางอ่อน กำมะถัน ยางนอก โล่ติ๊น” ส่วน พระราชบัญญัติยา พุทธศักราช ๒๕๑๐ ให้ความหมายของ “ยาสมุนไพร” ว่า “ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ” หากยาสมุนไพรถูกผสม ปรุง หรือแปรสภาพ ก็จะกลายเป็น “ยาแผนโบราณ” ซึ่งในกฎหมายฉบับเดียวกันให้นิยามไว้ว่า “ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ หรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ” ดังนั้น “สมุนไพร” จึงใช้เป็น “เครื่องยา” สำหรับปรุงยาตามตำรับยาต่างๆ บางตำราถึงเรียกรวมกันว่า “เครื่องยาสมุนไพร” แต่สมุนไพรก็ยังอาจใช้เป็นยาหรือยาพิษได้ด้วย โดยที่ไม่ต้องเป็น “เครื่องยา” ในตำรับยาใดๆ เช่น ผลมะเกลือดิบ เป็นสมุนไพรที่ใช้ถ่ายพยาธิ โกษฐ์กะกลิ้งอันเป็นเมล็ดแห้งที่ได้จากผลสุกของต้นแสลงใจ ใช้เป็นยาพิษ เป็นต้น และเนื่องจากสมุนไพรอาจได้ทั้งจากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ดังนั้นตำราลางเล่มจึงเรียกพืชที่เป็นสมุนไพรว่า “พืชสมุนไพร”

ทำไมต้องรู้จักเครื่องยา? ใน ตำราพระโอสถพระนารายณ์ อันเป็นตำรายาโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนั้น ได้สรุปองค์ความรู้เกี่ยวกับเภสัชกรรมแผนไทยไว้อย่างสั้นๆแต่ได้ใจความยิ่ง ดังนี้

… แล้วให้รู้สรรพคุณยา และรศยาทั้ง ๙ ประการก่อน จึงประกอบยา วางยาถ้าวางยาชอบโรคๆนั้นกลัวยา ดุจกาเห็นธนู ถ้ามิดังนั้น ดุจดังหมู่เห็นเนื้อพระยาไกรสรสีหราชก็ปลาศหนีไปโดยเร็ว ถ้าดูโรคมิถูกวางยา ดังอสรพิศม์อันบุคคลเอาไม้ไปรันลงที่ขนดหางโรคคือโทโส จะกำเริบขึ้นกลมทั่วสรรพางค์กายมรณ° อ่านว่าความตาย ภสิสสติ ก็จะมี ทุว° แท้จริง …ในการประกอบยาหรือปรุงยานั้น แพทย์ผู้ปรุงยาต้องรู้จักเครื่องยาต่างๆ ที่จะนำมาปรุงเป็นยา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ ส่วนที่ใช้ วิธีการได้มา วิธีการใช้ คุณภาพ ตลอดจนสรรพคุณและรสของเครื่องยาที่จะนำมาใช้ปรุงเป็นยา เครื่องยาที่เป็นส่วนประกอบในยาขนานต่างๆนั้น หากมีคุณภาพดี ก็จะทำให้ปรุงเป็นยาที่มีคุณภาพดี เมื่อนำไปใช้แก้โรค ก็จะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคนั้นได้โดยเร็ว ดังที่ตำราพระโอสถฯอุปมาไว้ว่า “โรคนั้นกลัวอย่าหยุดการเห็นธนู”

 

รูปภาพจาก:pantip.com,samunpri.com