สมุนไพรมะขามป้อม

สมุนไพรมะขามป้อม

มะขามป้อม Phyllanthus emblica Linn.
บางถิ่นเรียก มะขามป้อม (ทั่วไป) กันโตด (เขมร-จันทบุรี) กำทวด (ราชบุรี) มั่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน).

ไม้ต้น -> ขนาดกลาง สูง 8-12 ม. เปลือกสีเขียวอมเทา ลอกออกเป็นแผ่น ๆ เนื้อไม้สีแดงอมน้ำตาล.
ใบ -> เดี่ยว สีเขียวอ่อน กว้าง 0.25-0.5 ซม. ยาว 0.8-1.2 ซม. เรียงชิดกัน ดูผาด ๆ เหมือนใบประกบ ก้านใบสั้นมาก.
ดอก -> เล็ก สีขาว หรือ นวล ดอกแยกเพศ แต่เกิดบนต้นเดียวกัน ออกตามง่ามใบ 6 ดอก มีกลีบรองกลีบดอก 6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก. ดอกเพศผู้ มีเกสรผู้ 3 อัน ฐานรองดอกมีต่อม 6 ต่อม. ดอกเพศเมีย มีฐานรองดอกเป็นรูปถ้วย ขอบถ้วยหยัก รังไข่มี 3 ช่อง หลอดท่อรังไข่ปลายแยกเป็น 2 แฉก ไม่เท่ากัน.
ผล -> กลม มีเนื้อหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2-2 ซม. ผลอ่อนสีเขียวอ่อน ผลแก่สีเขียวอมเหลือง เนื้อรับประทานได้ มีรสฝาก เปรี้ยว ขม และอมหวาน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง มีสันตามยาว 6 สัน ภายในมี 6 เมล็ด.


นิเวศน์วิทยา

มะขามป้อมขึ้นประปรายเป็นหมู่ ๆ ตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าดิบทั่ว ๆไป


สรรพคุณ

ราก -> น้ำต้มรากกินเป็นยาลดไข้ เป็นยาเย็น ฟอกเลือด และทำให้อาเจียน ถ้ากลั่นราก จะได้สารที่มีคุณสมบัติเป็นยาฝาดสมานที่ดีกว่าสีเสียด (catechu) (55).
ต้น  เปลือก -> เป็นยาฝาดสมาน
ใบ -> น้ำต้มใบใช้อาบลดไข้
ดอก -> มีกลิ่นหอมคล้ายผิวมะนาว ใช้เข้าเครื่องยาเป็นยาเย็น และยาระบาย.
ผล -> ใช้ได้ทั้งผลสด และผลแห้ง มีฤทธิ์กัดทำลาย เป็นยาเย็น ยาฝาดสมาน แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ระบาย บำรุงหัวใจ ฟอกเลือด น้ำคั้นผลสด มีปริมาณวิตามินซีสูงกว่าน้ำส้มคั้นประมาณ 20 เท่า ในปริมาณเท่ากัน ใช้แก้โรคลักปิดลักเปิด (scurvy) ยางผลใช้หยอดแก้ตาอักเสบ กินเป็นยาช่วยย่อย และขับปัสสาวะ เนื้อผลแห้งที่เรียกว่า Emblic myrobalan ใช้เป็นยาฝาดสมาน เพราะมี tannin แก้โรคริดสีดวงทวาร แก้บิด ท้องเสีย ใช้กับธาตุเหล็กแก้โรคดีซ่านและช่วยย่อย ถ้าหมักผลจะได้แอลกอฮอล์ กินแก้อาหารไม่ย่อย แก้ไอ และแก้โรคดีซ่าน

 

รูปภาพจาก:kinlakestars.com,สมุนไพร