สมุนไพรกะเพรา

สมุนไพรกะเพรา

ชื่อพื้นเมืองอื่น ห่อกวอซู  ห่อตูปลู (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน) อิ่มคิมหลำ (เงี้ยว – แม่ฮ่องสอน) ก้อมก้อ  ก้อมก้อดง (เชียงใหม่) กะเพรา กะเพราขน  กะเพราขาว  กะเพราแดง (ภาคกลาง) อีตู่ไทย (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum tenuiflorum L.

ชื่อพ้อง Ocimum santum L.
ชื่อวงศ์ LABIATAE
ชื่อสามัญ Holy basil , Thai basil.

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์           
ไม้พุ่ม (US) ขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรงมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม โคนต้นแข็ง ยอดเป็นไม้เนื้ออ่อน มีขนปกคลุมทั่ว แตกกิ่งก้านสาขามากและมีกลิ่นหอมแรง กะเพราที่ปลูกกันมีอยู่ 2 ชนิด คือ กะเพราขาว ซึ่งมีใบและลำต้นสีเขียว และกะเพราแดง มีใบและลำต้นสีแดงอมเขียว                                                                                                              
ใบ
 เป็นใบเดี่ยว แตกใบออกตรงข้ามในแต่ละข้อของลำต้นและกิ่ง ลักษณะใบรูปรีหรือรีค่อนข้างยาว ปลายใบแหลม โคนใบรูปลิ่มหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น ยกเว้นขอบที่โคนใบจะเรียบ แผ่นใบบางสีเขียวหรือสีแดง และมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ก้านใบสีเขียวหรือสีแดงแล้วแต่พันธุ์                                                                            
ดอก
 ออกดอกเป็นช่อแบบช่อฉัตร ออกช่อที่ยอดหรือปลายกิ่ง ริ้วประดับรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายแหลม ขอบมีขน ดอกย่อยแบบสมมาตรด้านข้าง ก้านดอกโค้งยาวมีขน มีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็นปาก กลีบดอกสีขาวอมม่วงหรือสีม่วงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีแฉกมนๆ 4 แฉก ปากล่างโค้งลง แบนขอบเรียบ 
ผล
 เป็นแบบผลเปลือกแห้งเมล็ดเดียว มีขนาดเล็ก ปลายมนเกลี้ยง
เมล็ด มีขนาดเล็ก รูปไข่ สีน้ำตาลมีจุดสีเข้ม หุ้มด้วยกลีบเลี้ยงของเมล็ด                                                                                                                                                              

นิเวศวิทยา
 กะเพรา
พบได้ทั่วไๆปในประเทศที่มีอากาศร้อน นิยมปลูกเป็นพืชสวนครัวตามบ้านเรือน หรือไร่นา

การปลูกและขยายพันธุ์ 
เจริญเติบโตได้ในทุกฤดูกาล และขึ้นได้ในดินทุกชนิดในที่โล่งแจ้ง นิยมยกร่องปลูก ต้องการความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือใช้ลำต้นปักชำ

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคคุณ     
ราก  รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับเหงื่อในคนไข้โรคมาลาเรีย แก้ธาตุพิการ
รากและต้น รสเผ็ดร้อน บำรุงธาตุ แก้ไข้สันนิบาต แก้พิษตานซาง
ใบ รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ แก้อาการจุกเสียดในท้อง แก้ลมตานซาง แก้คลื่นเหียนอาเจียน ขับเสมหะ ขับเหงื่อ เป็นยาขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมัน และใช้ทาภายนอก แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน รักษาหูด ส่วนน้ำมันจากใบใช้เป็นยาฆ่ายุงได้(มีฤทธิ์ได้นาน 2 ชม.) หรือไล่แมลงวันทอง ยาชงหรือน้ำต้มใบ ใช้แก้โรคตับอักเสบ และบำรุงธาตุสำหรับเด็ก                                                               ดอก รสเผ็ดร้อน แก้หลอดลมอักเสบ
เมล็ด รสเผ็ดร้อน เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ และไตอักเสบ
ทั้งห้าหรือทุกส่วนของต้น เป็นยาเพิ่มน้ำนมในสตรีหลังคลอดบุตร ขับน้ำนม บรรเทาอาการไข้เรื้อรัง  

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้  
1. เป็นยาขับลมในเด็กอ่อน โดยใช้ใบสดใส่เกลือเล็กน้อยบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยอดประมาณ 3 วัน จะช่วยขับผายลมและถ่ายขี้เทา สำหรับผู้ใหญ่ใช้ใบกะเพราแห้งหรือบดเป็นผงชงน้ำดื่มเป็นยาขับลม
2. แก้คลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ ใช้ใบและยอดสดประมาณ 1 กำมือ (25) กรัม ต้มแล้วกรองเอาน้ำดื่ม
3. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียดและปวดท้อง(เหมาะสำหรับเด็กท้องอืด)โดยใช้ใบและยอดกะเพรา 1 กำมือ (กรณีเป็นใบสดหนัก 25 กรัม)ต้มแล้วกรองเอาน้ำดื่มหรือนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานแก้ท้องอืด
4. แก้ไข้ ใช้รากกะเพราชงน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง อาการจะทุเลา
5. ใช้ทาภายนอก โดยใช้ใบสดทาบริเวณท้องเด็กอ่อน จะช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้

 

รูปภาพจาก:sistacafe.com,trueplookpanya.com,สมุนไพร