สมุนไพรผักกาบกด

สมุนไพรผักกาบกด

ผักกาบกด Gynura pseudo-china (Linn.) DC.
บางถิ่นเรียก ผักกาบกด (เพชรบูรณ์) คำโคก (ขอนแก่น เลย) ผักกาดดง (เลย) ผักกาดดิน (แม่ฮ่องสอน) ผักกาดนกเขา (สุราษฎร์ธานี) หนาดแห้ง (นครราชสีมา).

ไม้ล้มลุก  สูง 40-75 ซม. ตั้งตรง รากหนาแข็งเป็นเหง้า. ใบ ออกที่โคนต้น รูปไข่กลับ หรือ รูปขอบขนาน กว้าง 1.5-5 ซม. ยาว 10-15 ซม. ปลายใบมน หรือ แหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบจักเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบเรียบ หรือ จักเป็นซี่ฟัน ผิวใบมีขนประปราย หรือ ค่อนข้างเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบสั้น. ดอก อัดแน่นเป็นกระจุก ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาวถึง 45 ซม. ส่วนก้านของกระจุกดอกยาว 0.5-2.5 ซม. มีขนสีขาวหนาแน่น ริ้วประดับวงในรูปหอก ปลายแหลม หรือ ค่อนข้างแหลม มีขนประปราย ยาว 9-12 มม. วงนอกยาว 2-4 มม. กลีบดอกสีเหลือง ยาว 11-12 ซม. เชื่อมติดกันเป็นรูปท่อ ปลายมี 5 แฉก เกสรผู้มี 5 อัน อับเรณูยาว 2 มม. รังไข่รูปทรงกระบอก ท่อเกสรเมียแยกเป็น 2 แฉก ปลายมน. ผล แห้ง รูปทรงกระบอก ยาว 2.5 มม. มีระยางค์ 10 เส้น.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ.

สรรพคุณ : ทั้งต้น เป็นยาบรรเทาอาการบวมและปวด เป็นยาพอกเนื้องอกที่เต้านม แก้โรคไฟลามทุ่ง ใบ น้ำคั้นเป็นยาอมกลั้วคอ แก้คอเจ็บ เหง้า รักษามดลูก เป็นยาห้ามเลือด แก้โรคบิด รักษาแผลอักเสบ บดเป็นผงละเอียดผสมกับชาชงให้สตรีดื่มหลังคลอดบุตร เป็นยาขับประจำเดือน ต้มดื่มแก้ไข้

 

รูปภาพจาก:wordpress.com,baanlaesuan.com,สมุนไพร