สมุนไพรโด่ไม่รู้ล้ม

สมุนไพรโด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้ม Elphantopus scaber Linn.
บางถิ่นเรียน โด่ไม่รู้ล้ม (ภาคกลาง) ขี้ไฟนกคุ่ม (เลย) คิงไฟนกคุ่ม (ชัยภูมิ) เคยโป้ หญ้าไก่นกคุ่ม หญ้าปราบ หญ้าสามสิบสองหาบ หนาดผา (ภาคใต้) ตะซีโกวะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หญ้าไฟนกคุ่มหนาดผา (กะเหรี่ยง) หนาดมีแคลน (สุราษฎร์ธานี).

ไม้ล้มลุก ลำต้นแข็ง ตั้งตรง สูง 10-70 ซม. แตกกิ่งก้านมาก รากอวบ ขนยาวราบ. ใบ ที่โคนจะเรียงตัวโดยรอบใกล้ผิวดิน รูปไข่กลับแกมขอบขนาน กว้าง 1-6 ซม. ยาว 5-38 ซม. ส่วนใบบน ๆ จะเล็กกว่า ปลายใบมน กลม หรือ แหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ซี่ฟันตื้น ๆ หรือ ค่อนข้างเรียบ มีขนยาวประปรายทั้งสองด้าน หรือ ด้านบนค่อนข้างเกลี้ยง ก้านใบยาวถึง 1.5 ซม.; ใบบน ๆ ไม่มีก้านใบ โคนใบค่อนข้างโอบลำต้น. ดอก เป็นกระจุก สีม่วงแดง หรือ สีขาว ก้านดอกยาว แข็ง และแตกเป็นสองข้างเท่า ๆ กัน ที่โคนกระจุกดอกจีใบประดับ 3 ใบ รูปไข่กว้าง แข็ง ปลายแหลม ริ้วประดับรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายแหลม เว้าเข้าข้างใน วงนอกสุดเกลี้ยง หรือ มีขนกระจาย ยาวประมาณ 0.5 ซม. วงในสุดมีขนนุ่ม ยาวประมาณ 1 ซม.; กลีบดอก โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ยาว 5.5 มม. ส่วนปลายจักเป็นแฉกรูปหอกแคบ 5 แฉก ยาว 3 มม. ผล แห้ง รูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 4 มม. มี 10 สัน ขนนุ่ม มีระยางค์เป็นขน แข็ง สีขาว ยาว 5-6 มม.

นิเวศน์วิทยา : พบทั่วไปตามทุ่งหญ้า สองข้างทาง ชายป่าและป่าละเมาะ.

สรรพคุณ : ทั้งต้น แก้ไอ วัณโรค เป็นยาฝาดสมาน ขับน้ำเหลืองเสีย แก้ไข้  แก้อักเสบ ห้ามเลือดกำเดา แก้ดีซ่าน นิ่ว ขัดเบา บิด เหน็บชา ท้องมาน ฝีฝักบัว ยาบำรุงหัวใจ ใช้ในรายที่ถูกงูกัด บำรุงกำหนัด รากและใบ ต้มเป็นยาหล่อลื่น ขับปัสสาวะ แก้อาการท้องร่วง บิด โรคบวมและปอด กระเพาะเป็นแผล ต้มอาบหลังคลอดบุตร กินแก้กามโรคในสตรี  แก้โรคมุตกิด บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก  น้ำที่สกัดได้จากต้นพืช มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะ  ใบ ต้มกับน้ำมะพร้าวใช้รักษาแผลและโรคผิวหนัง. ราก ต้มรับประทานหลังคลอดบุตร แก้อาเจียน  บดผสมพริกไทยแก้ปวดฟัน ลำต้นและใบ น้ำต้มเป็นยาทำให้ประจำเดือนมาปกติ และทำให้อยากอาหาร

 

รูปภาพจาก:nanagarden.com,pharmacy.mahidol.ac.th,สมุนไพร