สมุนไพรรกฟ้า

สมุนไพรรกฟ้า

รกฟ้า Terminalia alata Heyne ex Roth
ชื่อพ้อง T. tomentosa W. & A.
บางถิ่นเรียกว่า รกฟ้า (ภาคกลาง) กอง (ภาคเหนือ สงขลา) คลี้ (ส่วน-สุรินทร์) จะลึก (เขมร-บุรีรัมย์) เชือก (สุโขทัย) เซียก เซือก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สะพิแคล (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) ฮกฟ้า (ภาคเหนือ).

ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 20-30 ม. เส้นรอบวง 150-200 ซม. ผลัดใบ เปลือกนอกขรุขระ สีเทาดำ รอยแตกลึก เปลือกในสีแดง กิ่งใบอ่อนและช่อดอก มีขนนุ่ม สีสนิมเหล็ก เมื่อแก่เกลี้ยง. ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม หรือ กึ่งตรงข้ามกัน ใบตอนบน ๆ มักจะออกสลับกัน รูปขอบขนาน หรือ ขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 5-10 ซม. ยาว 10-15 ซม. ปลายใบแหลม หรือ กิ่งแหลม โคนใบมน หรือ เบี้ยว เนื้อใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง มักมีต่อม 1 คู่ อยู่ที่ผิวใบด้านล่างตรงเส้นกลางใบใกล้ ๆ โคนใบ วัดผ่าศูนย์กลาง 0.1-0.3 ซม. ก้านใบยาว 1-2 ซม. เกลี้ยง. ดอก ขนาดเล็ก ออกเป็นช่อกระจายตามง่ามใบ หรือ ปลายยอด ช่อดอกยาว 6-14 ซม. ดอกย่อยมีใบประดับรูปหอกและมีขน ซึ่งจะหลุดร่วงไป กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน ตอนล่างเป็นรูปท่อ ตอนบนแผ่ออกเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ด้านในมีขน ปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม 5 กลีบ; เกสรผู้มี 10 อัน ยาว 0.3-0.4 ซม. รังไข่มี 1 ช่อง ท่อเกสรเมียยาว 0.3 ซม. ผล เป็นแบบผลแห้ง แข็ง กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 4-6 ซม. มีปีกหนาเป็นมัน กว้างกว่าตัวผล 5 ปีก มีเส้นปีกลากจากแกนกลางไปยังขอบปีกในแนวราบเป็นจำนวนมาก. เมล็ด มี 1.

นิเวศน์วิทยา : พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังระดับความสูง 100 – 1,000 ม. ผลัดใบในเดือนมกราคม-เมษายน ผลิใบอ่อนและตาดอกในเดือนมิถุนายน.

สรรพคุณ : ราก ขับเสมหะ เปลือก น้ำต้มรับประทานแก้ท้องร่วง อาเจียน เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ ใช้ภายนอกเป็นยาห้ามเลือด ชะล้างบาดแผล

 

รูปภาพจาก:csc.ku.ac.th,dhammajak.net,สมุนไพร