สมุนไพรเล็บมือนาง

สมุนไพรเล็บมือนาง

เล็บมือนาง Quisqualis indica Linn.
บางถิ่นเรียก เล็บมือนาง (ภาคกลาง ภาคใต้) จะมั่ง จ๊ามั่ง มะจีมั่ง (ภาคเหนือ) ไม้หม่อง (กระเหรี่ยง- แม่ฮ่องสน) อะดอนิ่ง (มาเลย์-ยะลา).

ไม้เถา เนื้อแข็ง สูง 1.5-5 ม. กิ่งอ่อนมีขน. ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน หรือ ค่อนข้างตรงข้ามกัน รูปรี หรือ รูปรีขอบขนาน กว้าง 2.5-9 ซม. ยาว 5-18.5 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลม หรือ กึ่งรูปหัวใจ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง หรือ มีขน เส้นใบมี 5-6 คู่ ก้านใบยาว ยาว 0.5-2 ซม. มีขน บางครั้งเกลี้ยง. ดอก มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อที่ปลายยอดและตามง่ามใบ ช่อดอกยาว 2-20 ซม. ที่โคนดอกมีใบประดับ รูปหอกแหลม หรือ รูปรี ยาว 6-10 มม.; กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน สีเขียวอมเหลือง ตอนล่างล้อมรอบรังไข่ ยาว 3-4 มม. มีขน ตอนบนเป็นท่อยาวถึง 8 ซม. มีขน หรือ เกลี้ยง ปลายสุดแยกออกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก ยาว 1-2 มม.; กลีบดอกรูปขอบขนาน สีขาว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม กว้าง 3-6 มม. ยาว 10-20 มม.; เกสรผู้มี 10 อัน เรียงเป็น 2 แถว; รังไข่มี 1 ช่อง ไข่อ่อนมี 3-4 ใบ. ผล รูปรีแกมรูปไข่ กว้าง 0.5-1.0 ซม. ยาว 2.5-4 ซม. สีน้ำตาลเข้ม มักมีขนนุ่ม มีปีกแข็ง 5 ปีก.

นิเวศน์วิทยา : เล็บมือนางพบเลื้อยทั่วไปตามชายป่า สองฝั่งน้ำ ป่าพุ่ม ตั้งแต่ความสูง 0-100 ม. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน.

สรรพคุณ : ทั้งต้น แก้ไอ. ราก เมล็ดและผล เป็นยาขับพยาธิ ใบ ตำพอกแก้ปวดศีรษะ แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นยาสมาน เมล็ด เป็นยาถ่าย แก้ไข้ตกขาว  อาการวิงเวียนศีรษะ แช่ในน้ำมันรักษาโรคผิวหนัง แผลฝี น้ำต้มเมล็ดแก้โรคอหิวาตกโรค

 

รูปภาพจาก:pantip.com,สาระเร็ว.com,สมุนไพร