สมุนไพรข้าวตอกแตก

สมุนไพรข้าวตอกแตก

ข้าวตอกแตก Calycopteris floribunda Lamk.
บางถิ่นเรียกว่า ตีนตั่ง ตีนตั่งตัวผู้ (ภาคเหนือ) กรูด (สุราษฎร์ธานี) ข้าวตอกแตก (ภาคกลาง) งวงชุม (ขอนแก่น) งวงสุ่ม (อีสาน) งวงสุ่มขาว เมี่ยง เมี่ยงชนวนไฟ สังขยาขาว (พิษณุโลก สุโขทัย) ดวงสุ่ม (อุบลราชธานี) ดอกโรค (เลย) ตะกรูด (นครศรีธรรมราช) ตาโน้ะ (มาเลย์-ยะลา) เถาวัลย์นวล (ราชบุรี) ประโยด (ตราด) มันเครือ (นครราชสีมา) มันแดง (กระบี่) หน่วยสุด (ภาคใต้).

ไม้พุ่มเลี้อย ขนาดใหญ่ กิ่งอ่อนมีขน. ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม หรือ กิ่งตรงข้าม รูปไข่ หรือ รูปรี กว้าง 2-7 ซม. ยาว 6-17 ซม. ปลายใบเรียวแหลม หรือ แหลม โคนใบมน หรือ กลม เนื้อใบคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนนุ่มหนาแน่นเมื่อยังอ่อนอยู่ ต่อไปอาจเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลปนเหลืองหนาแน่น ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. มีขนสีน้ำตาลปนเหลือง. ดอก ออกเป็นช่อกระจายที่ปลายยอด มีขนที่โคนช่อ ใบประดับรูปรีแคบ ดอกสีเขียวอมเหลือง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ฐานดอกมีขนสีน้ำตาลปนเหลือง ตอนล่าง ยาว 4.5 มม. ล้อมรอบรังไข่ ตอนบนยาว 5 แฉก รูปรี หรือ รูปหอกกลับ ยาว 4 มม. มีขน ไม่มีกลีบดอก เกสรผู้มี 10 อัน ก้านเกสรผู้ยาว 2.5 มม.อับเรณูยาว 0.6 มม.; ท่อเกสรเมียยาว 5 มม. มีขนยกเว้นที่ปลาย. ผล รูปรี กว้าง 2-3 มม. ยาว 7-8 มม. ที่ปลายมีส่วนของกลีบรองกลีบดอก 5 กลีบติดอยู่ มีขนหนาแน่น. เมล็ด มี 1.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และ ฝั่งน้ำทั่วไป.

สรรพคุณ : ราก ใช้เมื่อถูกงูกัด. ใบ เป็นยาเจริญอาหาร สมาน ขับพยาธิ ระบาย แก้อาการจุกเสียด ปวดท้อง ตำละเอียดผสมกับเนยแก้โรคบิดและมาเลเรีย ใช้ภายนอกทาแผลเรื้อรัง

 

รูปภาพจาก:nanagarden.com,thisteacherscorner.blogspot.com,สมุนไพร