สมุนไพรยางพลวง

สมุนไพรยางพลวง

มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Dipterovarpus tuberculstus Roxb.
บางถิ่นเรียก กุง (อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี) คลง (เขมร-บุรีรัมย์) คลอง(เขมร) ควง (พิษณุโลก สุโขทัย) ตึง (พายัพ) พลวง (ภาคกลาง)

ยางพลวงเป็นไม้ต้น อาจสูงได้ถึง ๔๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกหนา แตกเป็นร่องลึก สีเทา กิ่งอ่อนอวบเกลี้ยง มีรอยแผลใบ หูใบเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ปลายใบมนกว้าง โคนใบหยักเว้า แผ่นใบหนา เกลี้ยง ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ดอกออกรวมเป็นช่อสั้นๆเหนือรอยแผลใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีแดงอมม่วง โคนกลีบเลี้ยงเปลี่ยนเป็นสันหรือพู ๕ พู โคนกลีบดอกเกยซ้อนเวียนเป็นรูปกังหัน ผลรูปกรวย ส่วนที่ติดอยู่กับปีเป็นพู ๕ พู แล้วค่อยๆตื้นขึ้น ไปทางขั้วผล มีปีกยาว ๒ ปีก ยาวได้ ๑๕ เซนติเมตร ปีกสั้น ๓ ปีก ยาวไม่เกินกึ่งหนึ่งของตัวผล น้ำมันยางเป็นของเหลวข้น สีน้ำตาลถึงดำปนเขียว หรือเทา มีกลิ่นเฉพาะ ได้จากการเจาะหลุมเข้าไปในต้นยางหลายชนิด แล้วเอาไฟลน น้ำยางจะไหลเข้ามาขังในแอ่งที่จะเอาไว้ ตักรวมกันแล้วใส่ไว้ในปี๊บ น้ำมันยางที่ได้มีชื่อสามัญว่า Gurjun balsam หรือ Gurjun oil เมื่อนำมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันระเหยง่ายในปริมาณสูง น้ำมันยางที่ได้จากต้นยางนาให้น้ำมันระเหยง่ายราวร้อยละ ๗๐  น้ำมันยางที่ได้จากต้นยางแดงให้น้ำมันระเหยง่ายราวร้อยละ ๓๗ ถึง ๘๒ ส่วนน้ำมันยางที่ได้จากต้นยางพลวงให้น้ำมันระเหยง่ายราวร้อยละ ๓๓

น้ำมันระเหยง่ายนี้มีองค์ประกอบทางเคมีเป็น อัลฟา-เกอร์จูนีนและเบตา-เกอร์จูนีน การเจาะลำต้นของไม้ยางเพื่อเก็บน้ำมันยางนั้น ต้องเลือกต้นที่โตขนาดวัดผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ เซนติเมตร โดยวัดขนาดที่ระดับสูงจากพื้นดิน ๑๓๐ เซนติเมตร กำหนดจำนวนหลุมที่จะเจาะตามขนาดของลำต้น คือ ขนาดวัดผ่านศูนย์กลาง ๑๕๐-๒๕๐ เซนติเมตร จะได้ไม่เกิน ๑ หลุม ขนาด ๒๕๐-๓๕๐ เซนติเมตร จะได้ไม่เกิน ๒ หลุมและขนาดที่โตกว่า ๓๐๐ เซนติเมตร จะได้ไม่เกิน ๓ หลุม หลุมที่จะต้องมีขนาดวัดผ่านศูนย์กลางไม่เกิน ๓๐ เซนติเมตร ลึกไม่เกิน ๒๐ เซนติเมตร และห่างกันไม่น้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร โดยการโดยเจาะเป็นแอ่งหรือเป็นแนวลาดเฉียงลงเพื่อให้ก้นของหลุมสามารถเก็บน้ำมันที่ไหลซึมออก มักเริ่มเจาะตอนปลายฤดูฝนราวเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนตุลาคม ทั้งนี้ห้ามเผาหรือกระทำการอื่นใดที่อาจทำให้ต้นไม้เป็นอันตราย

น้ำมันยางใช้ประโยชน์ได้มาก ใช้ทาไม้ ผสมชันอื่นๆ อุทยานแนวเรือ แนวรอยต่อไม้ ใช้ยาพรุที่ทำด้วยไม้ไผ่สำหรับใช้บรรจุน้ำ ใช้ผสมกับน้ำมันตัง (tung oil) ทาฝาเรือน ตู้ โต๊ะ เครื่องเรือน ให้ขึ้นเงาดี ใช้ผสมกับขี้เลื่อยและเศษใบไม้ผุ ที่บดละเอียด ห่อด้วยยางพลวงหรือเปลือกเสม็ดขาว ทำไตเสำหรับจุดไฟ ใช้ทาร่มเพื่อป้องกันน้ำในงานหัตถกรรม เมื่อเอามากะได้น้ำมันระเหยง่าย ในใช้ในอุตสาหกรรมทำสี น้ำมันชักเงา หมึกพิมพ์ และอื่นๆ ตำราสรรพคุณยาโบราณว่า น้ำมันยางมีรสร้อน เมาขื่น มีสรรพคุณห้ามหนอง และสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน แก้โรคหนองใน น้ำมันยางผสมกับเมล็ดกู๋ฉ่ายหรือกุยช่าย (Allium tuberosum Roxb.) คั่วให้เกรียม บดให้ละเอียด ใช้อุดฟันแก้ฟันผุ น้ำมันยาง ๑ ส่วน ผสมกับแอลกอฮอล์ ๒ ส่วน กินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้แผลในทางเดินปัสสาวะ แก้มุตกิบ (โรคระดูขาว) จิบเป็นยาขับเสมหะ

 

รูปภาพจาก:qsbg.org,dnp.go.th,สมุนไพร