มะตูม

มะตูม

ชื่อพื้นเมืองอื่น  มะปิน (ภาคเหนือ) มะปีส่า (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)  มะตูม (ภาคกลาง , ภาคใต้) พะโนงค์ (เขมร) กะทันตาเถร , ตุ่มตัง , ตูม (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb.
ชื่อวงศ์  RUTACEAE
ชื่อสามัญ  Beal fruit tree , Bengal quince , Bilak.

ลักษณะทั่วไปทางพฤกษศาสตร์ 
ไม้ต้น ขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 7-15 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามยาวแหลม ลักษณะลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นไม่เรียบ สีเทาปนน้ำตาล                                             
ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบลักษณะใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปหอกแกมรูปไข่ ใบกว้าง 2-7 ซม. ยาว 5-12 ซม. ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ฐานใบมน ผิวใบเรียบเกลี้ยง เป็นมันสีเขียว ก้านใบยาว ใบมีกลิ่นหอม

ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีสีขาว กลีบดอก 4 กลีบ ด้านนอกเป็นสีเขียวอ่อน ด้านในเป็นสีขาวนวล มีน้ำเมือก มีเมล็ดจำนวนมาก จะออกดอกช่วงหน้าแล้งหรือประมาณ มีนาคม ถึง พฤษภาคม
ผล ลักษณะผลรูปรูปรีกลม หรือรียาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ผิวเรียบเกลี้ยง เปลือกมันหนาแข็ง ผลอ่อนจะมีเปลือกเป็นสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่หรือสุกเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในผลมีเนื้อผลเป็นสีเหลืองปนส้ม เนื้อนิ่ม
เมล็ด เมล็ดลักษณะกลม สีขาวอมเหลือง จำนวนมาก อยู่ในเนื้อ

นิเวศวิทยา
เกิดตามป่าเบญจพรรณและป่าโปร่งทั่วๆไป และทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี

การปลูกและขยายพันธุ์
มะตูมเป็นไม้กลางแจ้ง ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ขยายพันธ์ุด้วยการเพาะเมล็ด หรือการตอนกิ่ง

ส่วนที่ใช้ รส และสรรพคคุณ     
ราก  รสฝาดปร่า แก้พิษฝี พิษไข้ รักษาน้ำดี แก้ลมหืดหอบ
ลำต้นและเปลือกราก  รสฝาดปร่า แก้ไข้จับสั่น ขับลมในลำไส้
ผลสุก  รสหวาน แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด แก้กระหายน้ำ บำรุงธาตุไฟ
ผลดิบ  รสฝาดปร่า แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้เสมหะ บำรุงธาตุไฟ ย่อยอาหารให้ละเอียด ช่วยขับผายลม
ใบสด  รสฝาดปร่า มัน เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร แก้หวัด แแก้บวม และเยื่อตาอักเสบ

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้  
1. แก้ท้องเสีย แก้ธาตุพิการ แก้บิด โดยใช้ผลดิบอ่อน หั่นเป็นแว่นตากแดดให้แห้ง 5-8 แว่น ต้มในน้ำสะอาด 1 ลิตร เคี่ยวประมาณ 10-15 นาที กรองเอาน้ำดื่ม ครั้งละ 1 แก้ว ทุก 2 หรือ 4 ชั่วโมง
2. แก้โรคลำไส้ แก้ท้องเดิน แก้หวัด โดยใช้ใบสดอ่อนรับประทานร่วมกับอาหาร หรือ ใช้ใบสด 5-10 กรัม โขลกให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อยคั้นเอาน้ำดื่ม
3. ขับลม เจริญอาหาร โดยใช้ผลแก่ 1 ลูก ขูดผิวออกให้หมด ทุบพอแตกร้าว ต้มในน้ำสะอาด 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือ 3 ใน 4 เติมน้ำตาลเล็กน้อย กรองเอาน้ำดื่ม น้ำที่ได้จะมีรสหอม

ข้อควรทราบ 

  • ถ้าท้องเสียควรดื่มน้ำมากๆ เติมน้ำตาลทรายและเกลือลงไปด้วยจะดีมาก

  • ผลแก่มีสารที่เป็นเมือก pectin และน้ำมันหอมระเหย ส่วนผลสุกมีสารที่เป็นเมือก pectin น้ำมันหอมระเหย และ pectin

  • ควรใช้เมื่อยามจำเป็นเท่านั้น เพราะยานี้ใช้รักษาโรคที่ค่อนข้างรุนแรง เข่น ท้องเสียรุนแรง

 

รูปภาพจาก:chiangmaitea.com,vichakaset.com,สมุนไพร