สับปะรด

สับปะรด 

สับปะรด (Ananas comosus Merr.)
บางถิ่นเรียก สับปะรด (กลาง) ขนุนทอง ยานัด ย่านนัด (ใต้) เนะซะ (กะเหรี่ยง-ตาก) แนะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) บ่อนัด (เชียงใหม่) มะขะนัด มะนัด (เหนือ) ม้าเนื่อ (เขมร) ลิงทอง (เพชรบูรณ์) สับปะรดลาย (กรุงเทพฯ) หมากเก็ง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

เป็นพืชล้มลุก ที่อยู่ได้หลายปี สูง 90-100 ซม.; ลำต้นยาวเพียง 20-25 ซม. มีปล้องสั้น ๆ.ใบ เรียงแบบบันไดเวียนอย่างหนาแน่นอยู่ตามลำต้น ไม่มีก้านใบ ยาวได้ถึง 1 เมตร กว้าง 6.5 ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบมีหนามบ้างเล็กน้อยที่ใกล้กับปลายใบและที่โคนใบ ด้านบนใบเรียบ สีเขียวเข้ม เป็นทางสีแดงเข้ม ด้านล่างสีขาวปนสีเงิน. ดอก ออกเป็นช่อใหญ่ที่ยอด มีดอกหนาแน่น ก้านช่อใหญ่ ยาว 7-15 ซม. แต่ละดอกมีกลีบรองกลีบดอก 3 กลีบ สั้นและฉ่ำน้ำ; กลีบดอก 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 1.6 ซม. ด้านบนสีฟ้าอมม่วง ด้านล่างสีขาว; เกสรผู้ 6 อัน เรียงเป็น 2 ชั้น ยาวเพียงครึ่งหนึ่งของกลีบดอก รังไข่ฝังอยู่ในฐานดอกภายใน 3 ช่อง ช่องหนึ่ง ๆ มีไข่อ่อน 14-20 เมล็ด เรียงเป็น 2 แถว. ผล เป็นผลที่เกิดจากช่อดอกทั้งช่อ เจริญร่วมกัน มีผนังเชื่อมติดกัน โดยมีแกนของผล ผลรูปทรงกระบอก โคนกว้างกว่าปลาย ขนาดกว้างประมาณ 14.5 ซม. ยาว 20.5 ซม. มีใบเป็นกระจุกที่ปลายของผล.

นิเวศน์วิทยา
สับปะรดมีถิ่นเดิมอยู่ทางตะวันออกของอเมริกาใต้ ปัจจุบันมีปลูกทั่วไปในเขตร้อนและเขตใต้เขตร้อน ปลูกได้งามบนดินปนทราย มีความทนทานต่อความแห้งแล้งเป็นพิเศษ.

สรรพคุณ 
ผล มีน้ำย่อย Bromelin ซึ่งช่วยย่อยโปรตีนได้ดี มีคุณสมบัติระงับอาการอักเสบ อาการบวมและช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็ว ช่วยกัดเสมหะในลำคอ ช่วยย่อยอาหารในกระเพาะลำไส้ เป็นยาระบายอ่อนๆ  แก้ลักปิดลักเปิด ช่วยย่อยเนื้อให้นิ่ม  ผลอ่อน ขับปัสสาวะ แก้โรคหนองใน กามโรค ขับพยาธิในเด็ก  ทำให้แท้งได้  ผลดิบ เชื่อว่าเป็นยาถ่ายอย่างแรง น้ำจากใบ เป็นยาขับพยาธิ เหง้า และ ตะเกียงสับปะรด เชื่อว่าปรุงเป็นยาต้ม ขับปัสสาวะ แก้นิ่วขับระดูขาว

 

รูปภาพจาก;kapook.com,blogspot.com