ปลาดุก

ปลาดุก

ปลาดุกเป็นสัตว์เลือดเย็น มีกระดูกสันสันหลัง

ปลาที่คนไทยเรียก ปลาดุก หรือ walking catfish นั้น อาจหมายถึงปลาน้ำปลาน้ำจืดอย่างน้อย ๒ ชนิดในวงศ์ Clariidae  คือ
๑. ปลาดุกด้าน
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Clarias  batrachus  (Linnaeus)
มีชื่อสามัญว่า walking  catfish
บางตัวที่มีสีขาวตลอด ชาวบ้านเรียก ดุกเผือก หรือถ้ามีสีค่อนข้างแดง  ก็เรียก ดุกแดง  แต่หากมีจุดขาวบริเวณทั่วลำตัว  ก็เรียก ดุกเอ็น   ปลาดุกด้านมีรูปร่างยาวเรียว ยาว  ๑๖-๔๐  เซนติเมตร (ในธรรมชาติอาจยาวได้ถึง ๖๑  เซนติเมตร) บริเวณด้านข้างของลำตัวมีสีเทาปนดำหรือสีน้ำตาลปนดำ บริเวณท้องมีสีค่อนข้างขาว ไม่มีเกล็ด ความยาวของลำตัวราว ๖-๗.๕ เท่าของความลึกของลำตัว และราว ๓.๕ เท่าของความยาวส่วนหัว หัวค่อนข้างแหลมหากมองทางด้านข้าง กระดูกหัวมีลักษณะขรุขระ กระดูกท้ายทอยยื่นเป็นมุมค่อนข้างแหลม ส่วนฐานของครีบหลังยาวเกือบตลอดส่วนหลัง ครีบหลังมีก้านครีบอ่อน ๖๕-๗๗  ก้าน ไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน  ๔๑-๕๘  ก้าน ครีบท้องกลม ครีบอกกลม มีก้านครีบแข็งข้างละ ๑ ก้าน ปลายแหลม เป็นหยักทั้ง ๒ ข้าง ครีบหางแบน ปลายมน ไม่ต่อกับครีบหลังและครีบก้น ตามีขนาดเล็กอยู่ด้านบนของหัว มีหนวด ๔ คู่  หนวดที่ขากรรไกรล่างยาวถึงส่วนปลายก้านครีบแข็งของครีบอก หนวดขากรรไกรบนยาวถึงก้านครีบหลังก้านที่  ๗-๘   หนวดที่บริเวณจมูกยาวเป็น ๑ ใน ๓ ของก้านครีบแข็งของครีบอก  และหนวดคางยาวถึงส่วนปลายของครีบอก ภายในส่วนหัวเหนือช่องเหงือกทั้ง ๒ ข้าง มีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ ฟันบนเพดานปากและฟันบนขากรรไกรบนเป็นฟันซี่เล็กๆ กระดูกซี่กรองเหงือกมี  ๑๖-๑๙  อัน ปลาดุกด้านมีนิสัยดุ ว่องไว ไม่ชอบอยู่นิ่ง ลุกลี้ลุกลน ชอบดำว่ายดำผุดและชอบมุดไปตามพื้นโคลนตม ชอบว่ายทวนน้ำออกไปจากแหล่งอาศัยในขณะฝนตกและน้ำไหลบ่าลงสู่แหล่งน้ำแห่งใหม่ มีความอดทนต่อสิ่งแวดล้อมที่เรวร้ายได้


๒. ปลาดุกอุย
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Clarias  microcephalus  Gunther
มีชื่อสามัญว่า  broadhead  walking  catfish
ปลาดุกอุยเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ลำตัวยาวเรียว ยาว  ๑๕-๓๕ เซนติเมตร  สีค่อนข้างเหลือง มีจุดประตามด้านข้างลำตัวราว ๙-๑๐ แถบ แต่เมื่อโตจะเลือนหายไป ผนังท้องมีสีขาวถึงเหลืองเฉพาะบริเวณอกถึงครีบท้อง ส่วนหัวค่อนข้างทู่ ปลายกระดูกท้ายทอยป้านและโค้งมนมาก ส่วนหัวจะลื่น มีรอยบุ๋มตรงกลางเล็กน้อย  มีหนวด  ๔  คู่ โคลนหนวดเล็ก ปากไม่ป้าน ค่อนข้างมนครีบอกมีครีบแข็งข้างละ ๑ ก้าง มีลักษณะแหลมคม ยื่นยาวหรือเท่ากับครีบอ่อน ครีบหลังมีก้านครีบอ่อน  ๖๘-๗๒  ก้าน   ปลายครีบสีเทาปนดำและยาวตลอดถึงคอดหาง ครีบก้นมีก้านครีบอ่อน  ๔๗-๕๒  ก้าน ครีบหางกลม ไม่ใหญ่มากนัก สีเทาปนดำ ครีบหางไม่ติดกับฐานครีบหลังและครีบก้น   จำนวนกระดูกซี่กรองเหงือกราว  ๓๒  ซี่งเมื่อดูผิวเผินทั้งปลาดุกด้านและปลาดุกอุยมีลำตัวสั้นป้อมกว่า ลำตัวสีดำปนเหลือง มีจุดเล็กๆสีขาวเรียงเป็นแถวตามขวางลำตัวหลายแถว หรืออาจมองเห็นเป็นจุดประสีขาวตามลำตัว ปลายกระดูกท้ายทอยโค้งมน ปลาดุกเป็นปลาที่พบได้ตามคู คลอง หนอง บึงทั่วไป จัดเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของไทยชนิดหนึ่ง

 

ประโยชน์ทางยา

แพทย์แผนไทยรู้จักใช้ปลาดุกผสมเป็นเครื่องยาในตำรับยาหลายขนาน โดยเฉพาะใน พระคัมภีร์ไกษย ให้ยาที่เข้า “ปลาดุกย่าง” อยู่ ๒ ขนาน ทั้ง ๒ ขนานเป็นยาแกง กินเป็นยาถ่ายอย่างแรง สำหรับแก้กษัย ดังนี้ ยาแก้ไกษยปลาดุก เอาเปลือกราชพฤกษ์เปลือกตาเสือ ๑  รากตองแตก  ๑  พาดไฉนนุ่น ๑  พริกไทยขิงแห้ง ๑  กระเทียม  ๑  ผลจันทน์ ๑  ดอกจันทน์  ๑  กระวาน  ๑  กานพลู  ๑  ข่า  ๑  กระชาย  ๑  กะทือ  ๑  ไพล  ๑  หอม  ๑  ขมิ้นอ้อย  ๑  กะปิ  ๑  ปลาดุกย่าง  ๑  ตัว ปลาร้าปลาส้อย ๕  ตัว ยา  ๒๐  สิ่งนืทำเป็นแกง แล้วเอาใบมะกาที่เพสลาดนั้นมาหั่นใส่ลงเป็นผัก กินให้ได้ถ้วยแกงหนึ่ง ลงจนสิ้นโทษร้าย หายวิเศษนัก และยางแกงเป็นยารุ ท่านให้เอาเปลือกทองหลางใบมนที่ ๒ เปลือกมะรุมลูกคัดเค้า ๑ เครื่องยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๗ ตัว ปลาดุกย่าง ๑ ตัว เอาใบสลอดที่กินลงที่อ่อนๆ นั้น ๗ ใบ หั่นเป็นผักใส่ลง ทำเป็นยาเถิด ลงเสลดเขียวเหลืองออกมา หายแล

 

รูปภาพจาก:matichon.co.th,ads.manager.co.th