สมุนไพรสะพ้านก้น

สมุนไพรสะพ้านก้น

สะพ้านก้น Siegesbeckia orientalis Linn.
บางถิ่นเรียก สะพ้านก้น หญ้าผมยุ่ง หญ้าเยี่ยวหมู (เชียงใหม่) ก้นจ้ำน้อย (นครราชสีมา).

ไม้ล้มลุก อายุหนึ่งปี สูงถึง 1.5 ม. แตกกิ่งงอโค้งเหนือพื้นดินแล้วจึงตั้งตรง กิ่งบน ๆ จะแตกเป็นสองกิ่งเท่า ๆ กัน มีขนนุ่มสีขาวหนาแน่น มักมีจุดแต้มสีม่วง. ใบ รูปไข่ หรือ ขอบขนานแกมรูปไข่ หรือ รูปไข่แกมสามเหลี่ยม กว้าง 3-10 ซม. ยาว 5-15 ซม. ปลายใบแหลม หรือ แหลมเป็นติ่ง โคนใบตัด หรือ สอบแคบเป็นรูปลิ่ม หรือ สอบแคบเป็นปีกไปยังก้านใบ ขอบใบจักเป็นซี่ฟันหยาบ ๆ ไม่เท่ากัน ผิวใบทั้งสองด้านมีขนนุ่ม ด้านล่างมีต่อม เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ เส้นใบมี 3 เส้น ออกจากโคนใบ ก้านใบยาว 1-5 ซม. ใบบน ๆ จะมีขนาดเล็กกว่าและไม่มีก้านใบ หรือ มีแต่สั้นมาก. ดอก เป็นกระจุกวัดผ่าศูนย์กลาง 4-5 มน ออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือ ตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว 1-4.5 ซม. แผ่กว้าง วงในรูปท้องเรือ มี 5 กลีบ ยาว 5 มม. ดอกวงนอก กลีบดอกยาว 2-2.5 มม. โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้นสีเขียว ปลายแผ่เป็นรูปไข่กลับกึ่งรูปสามเหลี่ยม สีเหลืองสด ดอกวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกยาวประมาณ 2 มม. เชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ที่โคนสีเขียว ส่วนตอนปลายสีเหลืองสด ปลายแยกออกเป็นแฉกมี 5 แฉก. ผล แห้ง ยาว 3-4 มม. สีน้ำตาลดำ หรือ สีดำ มีสัน 4 สัน มีขน.

นิเวศน์วิทยา : พบขึ้นทั่วไปตามสองข้างทาง ในที่รกร้างว่างเปล่า ที่กสิกรรม ระดับความสูงปานกลาง.

สรรพคุณ : ทั้งต้น เป็นยาบำรุง บรรเทาอาการปวดเมื่อย แก้โรคไขข้ออักเสบ ขับน้ำเหลืองเสีย แก้พิษ แก้มุตกิด ขับน้ำลาย บำรุงหัวใจ รักษาแผลเรื้อรัง แก้โรคซิฟิลิส โรคผิวหนัง เช่น ขี้กลาก โรคเรื้อน ฯลฯ ลดอาการจุกเสียดอันเนื่องมาจากไต ใบ เป็นยาพอกแผลไฟไหม้ ฯลฯ น้ำคั้นทาแผลแมลงสัตว์กัดต่อย

 

รูปภาพจาก:samunpri.com,wmwm5600.blogspot.com,สมุนไพร